Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการตัดสินความสมนัยทางด้านจำนวนโดยใช้ข้อมูลข้ามหมวดประสาทสัมผัสระหว่างการได้ยินและการมองเห็นและความสามารถในการตัดสินความสมนัยทางด้านจำนวนโดยใช้ข้อมูลจากประสาทสัมผัสหมวดเดียวกันระหว่างการมองเห็นและการมองเห็นของเด็กอายุ 3-4 ปี 2. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการตัดสินความสมนัยทางด้านจำนวนโดยใช้ข้อมูลข้ามหมวดประสาทสัมผัสระหว่างการได้ยินและการมองเห็นและความสามารถในการตัดสินความสมนัยทางด้านจำนวนโดยใช้ข้อมูลจากประสาทสัมผัสหมวดเดียวกันระหว่างการมองเห็นและการมองเห็นของเด็กที่มีความสามารถในการนับแตกต่างกัน 3. เพื่อทำนายความสามารถที่ไม่ได้เป็นไปโดยโอกาสในการตัดสินความสมนัยทางด้านจำนวนโดยใช้ข้อมูลข้ามหมวดประสาทสัมผัสระหว่างการได้ยินและการมองเห็น และในการตัดสินความสมนัยทางด้านจำนวนโดยใช้ข้อมูลจากประสาทสัมผัสหมวดเดียวกันระหว่างการมองเห็นและการมองเห็นของเด็กอายุ 3-4 ปี กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลที่มีอายุ 3-4 ปีของโรงเรียนฤทธิไกรศึกษา จำนวน 120 คน แบ่งเป็น 3 ระดับอายุ คือ 3 ปี 3 1/2 ปี และ 4 ปี ระดับอายุละ 40 คน เป็นเด็กชาย 60 คน และเด็กหญิง 60 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบดัดแปลงมาจากการศึกษาของ Mix et al. (1996) เพื่อให้เหมาะสมกับเด็กไทย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คือ การวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทาง (Two-way ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า 1. เด็กอายุ 3 ปี 3 1/2 ปี และ 4 ปี มีความสามารถในการตัดสินความสมนัยทางด้านจำนวนโดยใช้ข้อมูลข้ามหมวดประสาทสัมผัสระหว่างการได้ยินและการมองเห็นและความสามารถในการตัดสินความสมนัยทางด้านจำนวนโดยใช้ข้อมูลจากประสาทสัมผัสหมวดเดียวกันระหว่างการมองเห็นและการมองเห็นเพิ่มขึ้นตามระดับอายุ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. เด็กอายุ 3-4 ปีมีความสามารถในการตัดสินความสมนัยทางด้านจำนวนโดยใช้ข้อมูลจากประสาทสัมผัสหมวดเดียวกันระหว่างการมองเห็นและการมองเห็นสูงกว่าความสามารถในการตัดสินความสมนัยทางด้านจำนวนโดยใช้ข้อมูลข้ามหมวดประสาทสัมผัสระหว่างการได้ยินและการมองเห็น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. เด็กอายุ 3-4 ปีที่มีความสามารถในการนับมากกว่ามีความสามารถในการตัดสินความสมนัยทางด้านจำนวนโดยใช้ข้อมูลข้ามหมวดประสาทสัมผัสระหว่างการได้ยินและการมองเห็นและความสามารถในการตัดสินความสมนัยทางด้านจำนวนโดยใช้ข้อมูลจากประสาทสัมผัสหมวดเดียวกันระหว่างการมองเห็นและการมองเห็นสูงกว่าเด็กที่มีความสามารถในการนับน้อยกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. ความสามารถในการตัดสินความสมนัยทางด้านจำนวนโดยใช้ข้อมูลข้ามหมวดประสาทสัมผัสระหว่างการได้ยินและการมองเห็นและความสามารถในการตัดสินความสมนัยทางด้านจำนวนโดยใช้ข้อมูลจากประสาทสัมผัสหมวดเดียวกันระหว่างการมองเห็นและการมองเห็นที่ไม่ได้เป็นไปโดยโอกาสมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามระดับอายุ