Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลของสารปรับสภาพผิวหน้าของฐานฟันปลอมอะคริลิกเรซินชนิดบ่มด้วยความร้อน เมื่อซ่อมด้วยอะคริลิกเรซินชนิดบ่มด้วยตัวเอง โดยพิจารณาจากค่าความแข็งแรงดัดขวาง วัสดุและวิธีการ เตรียมชิ้นงานอะคริลิกเรซินชนิดบ่มด้วยความร้อน ตามมาตรฐาน ISO1567 จำนวน100 ชิ้น แบ่งเป็น 10 กลุ่มโดยสุ่ม ดังนี้ กลุ่มควบคุมบวก (กลุ่ม1) และลบ (กลุ่ม2) และกลุ่มทดลอง 8กลุ่ม โดยนำกลุ่ม 2-10 มาตัดตรงกลางให้ได้หน้าตัดเฉียง 45 องศา ทำการปรับสภาพผิวหน้าโดย กลุ่ม3 และ 4 ใช้ส่วนเหลวของยูนิฟาสไทรเอด® เป็นเวลา 5 และ 180 วินาทีตามลำดับ กลุ่ม 5 ใช้ส่วนยึดติดของสารรีเบสทู ตามคำแนะนำของผู้ผลิต กลุ่ม 6-10 ใช้สารเมทิลอะซิเตต สารเมทิลฟอร์เมต และสารละลายเมทิลอะซิเตต และเมทิลฟอร์เมตความเข้มข้นต่างๆ เป็นเวลา15 วินาที จากนั้นซ่อมด้วยอะคริลิกเรซินชนิดบ่มด้วยตัวเอง เปรียบเทียบค่าแรงดัดขวางของชิ้นงานทั้งหมดด้วยลักษณะแรงดัดโค้งแบบ 3 จุด โดยเครื่องทดสอบสากล (Universal Testing Machine, 8872, INSTRON UK) ใช้สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว และเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มด้วยทูคีย์ ที่ระดับนัยสำคัญ .05 จากนั้นนำชิ้นงานที่ทดสอบมาจำแนกลักษณะการแตกหัก ผลการศึกษา กลุ่ม 4-10 มีค่าเฉลี่ยแรงดัดขวางที่มากกว่า กลุ่ม 2 อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 และพบว่ากลุ่ม 5-10 มีค่าเฉลี่ยที่ไม่ต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ .05 เมื่อพิจารณาลักษณะการแตกหักพบว่ากลุ่ม 6-10 มีการแตกหักแบบเชื่อมแน่นร้อยละ100 ในขณะที่กลุ่ม 2-5 มีการแตกหักแบบเชื่อมแน่นร้อยละ 10, 40, 60 และ 60 ตามลำดับ สรุป การปรับสภาพพื้นผิวด้วยสารเมทิลอะซิเตต สารเมทิลฟอร์เมต และสารละลายเมทิลอะซิเตต และเมทิลฟอร์เมต ที่ความเข้มข้นต่างๆ สามารถเพิ่มค่าความแข็งแรงดัดขวางของอะคริลิกเรซินชนิดบ่มด้วยความร้อนเมื่อซ่อมด้วยอะคริลิกเรซินชนิดบ่มด้วยตัวเอง ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ