Abstract:
การศึกษาการจัดการสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายด้านการจัดสิ่งแวดล้อม ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป โดยศึกษาทางด้านการผลิต การตลาด การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การเงินและบัญชี รวมทั้งจิตสำนึกความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของผู้บริหาร ทั้งนี้เพื่อที่จะค้นหาปัญหาและอุปสรรคของการจัดการสิ่งแวดล้อมอันจะนำไปสู่แนวทางในการพัฒนาให้อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปมีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ขั้นตอนในการศึกษาวิจัยประกอบด้วย การศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ การดำเนินการของอุตสาหกรรมอาหารและการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งของภาครัฐ เอกชน และต่างประเทศ เพื่อที่จะนำข้อมูลมาพัฒนาแบบสอบถาม หลังจากที่มีการทดสอบและแก้ไขแบบสอบถามแล้วจึงนำไปสอบถามธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารซึ่งเลือกตัวอย่างโดยวิธีสุ่มตัวอย่าง จำแนกตาอุตสาหกรรมอาหารเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ อุตสาหกรรมแปรรูปข้าว อุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้ อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมแปรรูปปศุสัตว์ เลือกมากลุ่มละ 50 ตัวอย่าง รวมเป็น 200 ตัวอย่าง หลังจากนั้นจะมีการสัมภาษณ์ลึกผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร แล้วจึงนำผลมาประมวลโดยใช้สถิติเชิงพรรณา และสถิติอ้างอิงด้วย SPSS-PC ผลจากการศึกษาพบว่า อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ส่งออกเข้าประเทศถึง 150,575 ล้านบาท โดยในปี 2539 มีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 4.5 มีโรงงานอาหาร 13,832 โรง มีจำนวนคนงานทั้งสิ้นประมาณ 500,000 คน จึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าจะมีมูลค่าการส่งออกสูงและนำรายได้เข้าประเทศมหาศาล แต่อุตสาหกรรมอาหารก็ประสบปัญหาในการนำเข้าประเทษคู่ค้าเพราะโดนกีดกันด้วยมาตรการต่าง ๆ ทั้งมาตรการภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการด้านสุขอนามัย ซึงเป็นข้อกำหนดทางเทคนิคเกี่ยวกับคุณภาพ และความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมจากแบบสอบถามที่ส่งออกไป 200 ราย ได้คืนมา 165 ราย ธุรกิจส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 11 ปี มีทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 50 ล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 100-600 ล้านบาท ยอดขายส่วนใหญ่สูงกว่า 500 ล้านบาท มีการส่งออกมากกว่า 75% มีจำนวนพนักงานมากกว่า 300 คนขึ้นไป 1 ใน 4 ของธุรกิจที่ตอบแบบสอบถามได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ธุรกิจส่วนใหญ่สมัครใจในการวางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและมีการวางแผนการจัดการสิ่แวดล้อม แต่ยังขาดหน่วยงานที่ ดูแลรับผิดชอบการจัดการสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่แล้วธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่า มียอดขายสูงกว่า มีการส่งออกต่างประเทศ จะมีการลงทุนในการจัดการสิ่งแวดล้อมสูงกว่าในหลาย ๆ ด้าน โดยทั่วไปแล้วธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารได้รับทราบข่าวการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจและไม่ได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจจะพิจารณาปริมาณของเสียที่ลดลงเป็นเกณฑ์ในการประเมินความสำเร็จด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม รองลงมาคือ การลดพลังงาน การลดปริมาณขยะ และการลดการใช้ทรัพยากร ส่วนประโยชน์ที่ธุรกิจได้รับจากการจัดการสิ่งแวดล้อม อันดับแรกคือ ลดค่าใช้จ่าย ประหยัดพลังงานและวัตถุดิบ รองลงมาคือ เป็นการเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทพอ ๆกับรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อชุมชนและสังคม สิ่งที่ธุรกิจได้ทำในการจัดการด้านการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้น ที่สำคัญมากที่สุดคือ การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองลงมาคือ สินค้ามีคำแนะนำในการใช้หีบห่อที่ใช้ลดสิ่งที่ก่อให้เกิดขยะน้อยลง หีบห่อทำจากวัสดุที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ สามารถนำมาเติมหรือย่อยสลายทางชีวได้ และธุรกิจมีการใช่กลยุทธ์ด้านสร้างความแตกต่างโดยเน้นเป็นสินค้าที่คำนึงด้านสิ่งแวดล้อมในการสอบถามด้านการจัดการการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป พบว่าธุรกิจเกือบทุกประเภทของอุตสาหกรรมได้ดำเนินกลยุทธ์ต่าง ๆในโรงงานในด้านต่าง ๆ คือ ประหยัดการใช้พลังงาน ประหยัดน่ำ ลดกากของเสีย ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด มีกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีการกำจัดขยะหรือของเสียที่เป็นพิษ มีการจัดการด้านความปลอดภัยในโรงงาน มีการใช้หลอดไฟหรือเครื่องจักรประหยัดพลังงาน มีการดูแลบำรุงรักษาเครื่องมือ เครื่องจักร อย่างสม่ำเสมอ กิจกรรมที่โรงงานทุกประเภทของอุตสาหกรรมทำกันน้อยมาก คือ การวิเคราะห์วงจรชีวิต ใน้นการจัดการทรัพยากรมนุษย์ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปมีการรณรงค์ประหยัดไฟ ประหยัดน้ำ ประหยัดวัสดุสิ้นเปลืองมากที่สุด รองลงมา คือ การตรวจสุขภาพอนามัย และอบรมพนักงานให้มีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปมีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมน้อย ครึ่งหนึ่งลงทุนไม่เกิน 10 ล้านบาท การลงทุนส่วนใหญ่เป็นด้านกำจัดน้ำเสีย และไม่ค่อยได้จดบันทึกหรือทำบัญชีเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมผู้บริหารส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปประเมินว่า ธุรกิจของตนมีประสิทธิภาพการจัดการสิ่งแวดล้อม มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14000) เทคโนโลยีด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของพนักงานไม่แตกต่างจากผู้อื่น โดยรวมแล้วธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารได้รับมาตรบาน สมอ. มากที่สุด รองลงมาคือ HACCP ISO 9000 (มาตรฐานด้านคุณภาพ) ส่วนมาตรฐาน ISO 14000 ได้รับน้อยมาก จากการประชุมรายงานผลการวิจัยได้มีข้อเสนอแนะในการพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านการตลาด การผลิต การจัดการทรัพยากรมนุษย์แก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชนทั่วไปที่แต่ละฝ่ายจะต้องมีบทบาทร่วมกันในการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยทั่วไปแล้วภาครัฐจะต้องมีการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ออกมาตรการกฎหมายควบคุม และช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจและประชาชนให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ด้านธุรกิจจะต้องผลิตสินค้าที่ไม่ทำอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ด้านประชาชนทั่วไปจะต้องให้ความสนใจและมีจิตสำนึกที่ดีต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมได้มีการพัฒนากรณีศึกษาขึ้น เพื่อใช้ในการฝึกอบรมผู้บริหารในการจัดการสิ่งแวดล้อม