Abstract:
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะหาวิธีการผลิตสารต่อต้านพิษงูเห่าไทย (Naja naja siamensis) ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันโดยวิธีการง่าย ๆ สารต่อต้านพิษงูเห่าที่ผลิตได้ในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควร ปัญหาของการผลิตเกิดจากสาเหตุ 3 ประการ คือ พิษงูเห่าเป็นสารที่มีพิษสูงมาก ดังนั้น จึงไม่สามารถฉีดเข้าไปมากพอที่กระตุ้นให้สัตว์สร้างสารต่อต้านพิษงูเห่าในระดับสูงได้ ประการที่ 2 คือ พิษงูเห่ามีขนาดโมเลกุลเล็กจึงขาดคุณสมบัติของการเป็นแอนติเจนที่ดี และประการสุดท้ายคือ พิษงูเห่าที่รีดมาจากตัวงูนั้น มีสารโปรตีนชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พิษงูปะปนอยู่มาก งานวิจัยที่รายงานนี้คณะผู้วิจัยได้แก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อดังกล่าวข้างต้น โดยแยกโปรตีนส่วนที่ไม่ใช่สารพิษออกได้ 35% ของโปรตีนในพิษงูทั้งหมดด้วยการแช่สารละลายของพิษงูที่อยู่ในสภาพเป็นกรด (pH 5.8) ในอ่างน้ำร้อน 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 20 นาที แล้วแยกเอาโปรตีนรูปโพลิเมอร์ด้วยสาร glutaraldehyde โพลิเมอร์ของพิษงูเห่าที่ได้นำไปใช้เป็นแอนติเจนในการกระตุ้นให้แกะสร้างสารต่อต้านพิษงูเห่า (anti-toxin) โดยใช้ปริมาณต่าง ฟ กัน ผลการทดลองพบว่า แกะกลุ่มที่ได้รับแอนติเจนขนาด 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมสามารถสร้างสารต่อต้านพิษงูได้สูงถึง 154.64 L D[subscript 50] หลังจากที่ได้รับการฉีดแอนติเจน 20 ครั้ง ระดับของสารต่อต้านพิษงูที่ได้ในแกะกลุ่มนี้สูงเป็น 3 เท่าของที่ผลิตได้ในปัจจุบัน