Abstract:
เป็นที่ยอมรับกันว่าโครงการวางแผนครอบครัวของประเทศไทย ได้รับความสำเร็จอย่างสูงในปัจจุบัน ผลจากการวิจัยพบว่า สาเหตุสำคัญของการเพิ่มอัตราการใช้การวางแผนครอบครัวในช่วง พ.ศ. 2513-2522 เป็นผลจากการเพิ่มอุปทานของบุตรและการลดอุปสงค์ต่อบุตร ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการใช้การวางแผนครอบครัวทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินก็ถูกลงด้วย จากประเด็นดังกล่าวทำให้ผู้วิจัยสนใจศึกษาทิศทางของอุปสงค์และอุปทานของบุตร ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการใช้การวางแผนครอบครัวในปัจจุบันว่ามีแน่วโน้มเป็นอย่างไร ตลอดจนพิจารณาด้วยว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมมีส่วนสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างไร ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูล ของโครงการการสำรวจการคุมกำเนิดในประเทศไทยรอบที่ 3 ซึ่งดำเนินการโครงการดังกล่าวในช่วงระยะเวลาเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2526 ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2527 โดยความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ สำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และกองอนามัยครอบครัว กระทรวงสาธารณสุข พอจะสรุปโดยสังเขปดังนี้ ผลของการศึกษาในครั้งนี้สอดคล้องกับแนวทฤษฎีอุปสงค์ อุปทานของการใช้การคุมกำเนิดของ Easterlin และ Crimmins ที่ใช้เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์กล่าวคือ เมื่อคู่สมรสมีแรงจูงใจที่จะคุมกำเนิดและหากว่าค่าใช้จ่ายในการใช้การคุมกำเนิดต่ำ คู่สมรสจะเลือกใช้การคุมกำเนิด นอกจากนี้ยังพบว่าตัวแปรแรงจูงใจไม่ว่าจะวัดจากความแตกต่างของอุปทานและอุปสงค์ของบุตร (Cn-Cd) อุปสงค์ของบุตร อุปทานของบุตร ความไม่ต้องการบุตรเพิ่ม ความแตกต่างของจำนวนบุตรที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันและอุปสงค์ของบุตร (C-Cd) และจำนวนบุตรที่มีชีวติอยู่ในปัจจุบันมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับการใช้การคุมกำเนิด อย่างไรก็ตามในบรรดาตัวแปรแรงจูงใจทั้งหมดที่นำมาศึกษาตัวแปร Cn-Cd เป็นตัวแปรที่ใช้วัดแรงจูงใจในการใช้การวางแผนครอบครัวได้ดีที่สุด ขณะเดียวกัน ตัวแปรค่าใช้จ่ายในการใช้การคุมกำเนิด ซึ่งวัดจากจำนวนวิธีการคุมกำเนิดที่คู่สมรสรู้ ก็มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับการใช้ และทั้งตัวแปรแรงจูงใจและค่าใช้จ่ายก็เป็นตัวแปร 2 ตัวแปรที่เสริมกันในการอธิบายการยอมรับการใช้การวางแผนครอบครัว ในส่วนของปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อตัวแปร Cd Rc และองค์ประกอบของตัวแปร Cn บางตัวเช่น สัดส่วนการตายของเด็ก และระยะเวลาการสมรส พบว่าการศึกษาของสตรี เขตที่อยู่อาศัย และระดับการมีไฟฟ้าใช้มีผลต่อตัวแปรดังกล่าว ในทิศทางที่คาดหวังไว้ (แม้ว่าบางครั้งความสัมพันธ์ดังกล่าว จะไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 95 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม) กล่าวคือ ในกลุ่มสตรีที่มีการศึกษาสูงที่อยู่ในเมือง และที่มีระยะเวลาของการมีไฟฟ้าใช้ยาวนานกว่า จะมีสัดส่วนการตายของเด็กในระดับต่ำ มีระยะเวลาการสมรสสั้นกว่า มีความต้องการบุตรน้อย และรู้วิธีการใช้การวางแผนครอบครัวมากวิธีกว่ากลุ่มสตรีที่มีการศึกษาต่ำ และ/หรืออาศัยอยู่ในชนบท ตลอดจนการมีไฟฟ้าใช้ในช่วงเวลาสั้นกว่า สำหรับการเปลี่ยนแปลงของตัวแปร องค์ประกอบของ Cn ตัวอื่น เช่น การไม่เป็นหมันหลังจากเคยมีบุตร (NSS) และสัดส่วนการสูญเสียจากการตั้งครรภ์ (PREGWAS) นั้น มักจะเป็นผลมากจากปัจจัยทางสรีรวิทยามากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคม