Abstract:
ศึกษาแนวทางปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับสินทรัพย์ชีวภาพ และผลิตผลทางการเกษตรของบริษัทที่ประกอบธุรกิจฟาร์มสุกรในปัจจุบัน วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตาม (ร่าง) มาตรฐานการบัญชีการเกษตรสำหรับบริษัทที่ประกอบธุรกิจฟาร์มสุกร ในด้านปัญหาอาจเกิดขึ้นและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ พร้อมกับนำเสนอแนวทางแก้ไข และวิเคราะห์ผลต่องบการเงินที่เปลี่ยนแปลงเมื่อนำ (ร่าง) มาตรฐานการบัญชีการเกษตรมาประยุกต์กับบริษัทที่ประกอบธุรกิจฟาร์มสุกร การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาและเชิงสำรวจ ศึกษาโดยการเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจากนักบัญชี ผู้สอบบัญชีและผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจฟาร์มสุกร และเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การศึกษาจะมุ่งเน้นถึงผลกระทบทางด้านปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการประยุกต์ (ร่าง) มาตรฐานการบัญชีการเกษตร ได้แก่ ปัญหาด้านการวัดมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ชีวภาพ ปัญหาด้านการเปิดเผยข้อมูลประกอบงบการเงินและปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า แนวทางปฏิบัติทางบัญชีของบริษัท ที่ประกอบธุรกิจฟาร์มสุกรในปัจจุบันคือ มีการรับรู้และวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือ "สุกร" ณ วันสิ้นงวดด้วยราคาทุน มีการรับรู้และวัดมูลค่าสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน "สุกรพ่อ-แม่พันธุ์" ด้วยราคาทุนหักค่าเสื่อมราคาสะสม ปัญหาที่เกิดขึ้นในด้านการวัดมูลค่ายุติธรรมสำหรับสินทรัพย์ชีวภาพคือ การไม่สามารถหาราคาตลาดที่น่าเชื่อถือสำหรับสุกรที่ยังไม่พร้อมขายได้ ปัญหาด้านการเปิดเผยข้อมูลประกอบงบการเงินคือ บริษัทฯ ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลบางประเภทที่ถือเป็นความลับของกิจการได้ และปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาด้านแนวทางปฏิบัติทางบัญชีที่แตกต่างจากกรมสรรพากร ปัญหาความยุ่งยากในการจัดทำบัญชี เป็นต้น ข้อเสนอแนะสำหรับปัญหาด้านการวัดมูลค่ายุติธรรมสำหรับสินทรัพย์ชีวภาพคือ กิจการอาจเลือกใช้แนวทางที่สามารถเลือกปฏิบัติตาม (ร่าง) มาตรฐานการบัญชีการเกษตร ที่กำหนดให้กิจการสามารถรับรู้และวัดมูลค่าสินทรัพย์ชีวภาพ ด้วยราคาทุนหักค่าเสื่อมราคาสะสมและขาดทุน จากการด้อยค่าหากไม่สามารถวัดมูลค่ายุติธรรมได้อย่างน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ควรมีการจัดอบรมสำหรับนักบัญชี ผู้สอบบัญชีและผู้สนใจทั่วไปเกี่ยวกับ (ร่าง) มาตรฐานการบัญชีการเกษตร เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติทางบัญชีที่ถูกต้อง