Abstract:
ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างราคาตลาดของหลักทรัพย์ กับหนี้สงสัยจุสูญและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญส่วนที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหาร เนื่องจากรายการดงกล่าวถือเป็นรายการปรับมูลค่าทางบัญชี ที่ตั้งขึ้นโดยผู้บริหารเพื่อสะท้อนถึงสถานภาพและมูลค่า ที่คาดว่าจะเก็บได้ของเงินให้สินเชื่อ กลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยในครั้งนี้คือ บริษัทในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ดำเนินงานในช่วงปี 2543-2547 งานวิจัยใช้การวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุในการทดสอบ และใช้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ เป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่งหนี้สงสัยจะสูญและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ออกเป็นส่วนที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหาร และส่วนที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหาร เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประมาณค่า ผลการศึกษาพบว่า หนี้สงสัยจะสูญและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญส่วนที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหาร มีความสัมพันธ์กับราคาตลาดของหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ โดยหนี้สงสัยจะสูญส่วนที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหาร แปรผกผันกับราคาตลาดของหลักทรัพย์ ในขณะที่ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญส่วนที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหารแปรผันตรง กับราคาตลาดหลักทรัพย์ หลักฐานดังกล่าวจึงเป็นไปตามสมมติฐานที่ว่า นักลงทุนมองว่าหนี้สงสัยจะสูญส่วนที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหาร เป็นค่าใช้จ่ายซึ่งทำให้กำไรในงวดปัจจุบันของกิจการลดลง ในขณะที่มองว่าค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นรายการที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหาร ซึ่งอาจใช้ในการส่งสัญญาณเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในอนาคต ดังนั้นผลงานวิจัยครั้งนี้จึงสอดคล้องกับผลงานวิจัยของ Ahmed, Takeda and Thomas (1999) และงานวิจัยของ Beaver and Engel (1996)