Abstract:
การลำดับชั้นหินของหมวดหินเสาขัว ที่มีซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ อายุครีเทเซียสตอนต้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ศึกษาจากข้อมูลหลักทางภาคสนามที่ได้จากพื้นที่ศึกษาที่มีชั้นหินอ้างอิง 14 บริเวณ ครอบคลุมพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ตะวันตก และทางตอนกลางของที่ราบสูงโคราช และทำการเก็บตัวอย่างจากทุกชั้นหินอ้างอิงเพื่อทำการศึกษารายละเอียดในแผ่นหินบาง วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งคือศึกษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ไดโนเสาร์อาศัยอยู่ในยุคนั้น หมวดหินเสาขัวในพื้นที่ศึกษาโดยภาพรวมทั้ง 14 บริเวณ ประกอบด้วย กลุ่มหินซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 lithofacies จากล่างขึ้นบนดังนี้ 1. Mudstone and fine-grained sandstone facies (Lithofacies I) 2. Medium to thick bedded arkosic sandstone facies (Lithofacies II) 3. Cycle of conglomerate-sandstone-mudstone-calcrete horizon (Lithofacies III) 4. Lithic sandstone-siltstone facies (Lithofacies IV) 5. Fresh water limestone-siltstone facies(Lithofacies V) และ 6. Upper mudstone lithofacies (Lithofacies VI) ชั้นหินอ้างอิงที่พบซากดึกดำบรรพ์รอยเท้าไดโนเสาร์ได้แก่ ชั้นหินอ้างอิงที่ 1 ซึ่งอยู่ใน Lithofacies II ชั้นหินอ้างอิงที่พบซากดึกดำบรรพ์กระดูกไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ ประเภทหินเนื้อและกินพืชได้แก่บริเวณชั้นหินอ้างอิงที่ 4-9 ซึ่งอยู่ใน Lithofacies III และชั้นหินอ้างอิงที่พบเศษกระดูกและฟันไดโนเสาร์เป็นชิ้นเล็กๆ ได้แก่ชั้นหินอ้างอิงที่ 2-6,9,11 และ 13 ซึ่งอยู่ใน Lithofacies III และ V ตามลำดับ ข้อมูลจากการศึกษาแผ่นหินบาง สรุปได้ว่าหินเกือบทั้งหมดมีการคัดขนาดของเม็ดแร่ค่อนข้างดีแต่ความกลมมนต่ำ และแมททัวริตีไม่สมบูรณ์นัก แสดงถึงการตกตะกอนอย่างรวดเร็วการแปลความหมายนิเวศน์วิทยาจากข้อมูลของลักษณะหินบ่งชี้ว่า สภาวะภูมิอากาศในยุคครีเทเซียสตอนต้นส่วนใหญ่เป็นแบบร้อนชื้นสลับร้อนแห้งแล้ง สภาพภูมิประเทศมีลักษณะเป็นที่ราบและลอนลูกฟูกตามริมแม่น้ำสายใหญ่ที่มีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น มีช่วงน้ำหลากเป็นครั้งคราว ไดโนเสาร์ทั้งชนิดกินพืชและกินเนื้ออาศัยอยู่ในที่ลุ่มชื้นแฉะตามริมแม่น้ำ หรือตามทะเลสาป ที่พื้นท้องน้ำมักพบรูหนอน และหอยสองฝาน้ำจืดอยู่ด้วย