Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงลักษณะที่ตั้ง การใช้ การกระจายตัวและปัญหาที่ราชพัสดุเพื่อหาความสัมพันธ์และขนาดที่ดินที่เหมาะสมระหว่างกิจกรรมที่ตั้งในการให้บริการตามกฎเกณฑ์มาตรฐานของหน่วยงานราชการเสนอแนวทางในการใช้ที่ราชพัสดุของอำเภอเมืองให้สอดคล้องต่อการผังเมือง และมีประสิทธิภาพ ผลการวิจัยพบว่า อำเภอเมืองนครราชสีมา มีความสำคัญเป็นศูนย์กลางการปกครอง เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการที่เป็นตัวแทนของฝ่ายบริหารที่ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ถึง 307 หน่วยงานจาก 85 กรม 15 กระทรวง หน่วยงานราชการเหล่านี้จะมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ตำบลในเมืองหรือเทศบาลเมืองนครราชสีมา ร้อยละ 59.47 ที่เหลือจะกระจายอยู่ตามตำบลอื่นๆ อีก 22 ตำบล ที่ราชพัสดุเป็น[ทรัพย์]สินของรัฐที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพฯ มี กรมธนารักษ์ เป็นผู้ดูแลจัดทำทะเบียน อนุญาตให้ใช้หรือเรียกคืน ส่วนในจังหวัดอื่นมีสำนักงานราชพัสุจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ จากการศึกษาพบว่ามีที่ราชพัสดุในอำเภอเมืองนครราชสีมาจำนวน 274 แปลง อยู่ที่ตำบลในเมืองจำนวน 137 แปลง หรือร้อยละ 50.06 เป็นที่ดินที่มีขนาดเนื้อที่ต่ำกว่า 3 ไร่ ถึง 92 แปลง ส่วนที่ราชพัสดุที่มีขนาดเนื้อที่มากกว่า 300 ไร่ขึ้นไป อยู่ในตำบลโพธิ์กลาง หนองไผ่ล้อม และหนองจะบก ส่วนที่เหลืออยู่ในตำบลอื่นๆ ใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงานราชการจำนวน 64 แปลง สถานการศึกษา จำนวน 69 แปลง สถานพยาบาล จำนวน 20 แปลง บ้านพักข้าราชการจำนวน 39 แปลงและจัดหาประโยชน์ จำนวน 48 แปลง ที่ราชพัสดุเหล่านี้อยู่ในเขตผังเมืองรวมนครราชสีมาเกือบทั้งหมด แนวทางการใช้ที่ราชพัสดุในอำเภอเมืองนครราชสีมา ควรจัดตั้งย่านสถาบันราชการหรือศูนย์ราชการในรูปแบบอาคารสูงบริเวณศาลากลางจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง จัดตั้งย่านการศึกษาและสาธารณสุขในบริเวณที่ราชพัสดุทางเหนือของเมืองนครราชสีมาเก่า และปรับปรุงพื้นที่บริเวณกำแพงเมืองเก่าให้เป็นพื้นที่เพื่ออนุรักษ์ นอกจากนั้นเห็นควรเปลี่ยนแปลงเกณฑ์มาตรฐานในการใช้ที่ราชพัสดุให้สอดคล้องต่อการจัดย่านราชการที่กล่าวมาข้างต้นและควรมีหน่วยงานราชการที่มีอำนาจในการบริหารที่ราชพัสดุอย่างแท้จริงเพียงหน่วยงานเดียว