Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการแปรของ (kh) ในภาษาพวนบ้านฝายมูล ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เก็บข้อมูลจากผู้บอกภาษาจำนวน 60 คน แบ่งออกเป็น 3 รุ่นอายุ ได้แก่ ผู้พูดในรุ่นอายุมาก (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ผู้พูดวัยกลางคน (อายุระหว่าง 35-50 ปี) และผู้พูดในรุ่นอายุน้อย (อายุระหว่าง 10-25 ปี) รุ่นอายุละ 20 คน โดยเก็บข้อมูลใน 2 วัจนลีลา ได้แก่ คำพูดเดี่ยวและคำพูดต่อเนื่อง ผู้วิจัยศึกษาการแปรทางกลสัทศาสตร์ของ (kh) ด้วยการวิเคราะห์ค่าความเข้มสัมพัทธ์จากการคำนวณอัตราส่วนค่าความเข้ม ซึ่งแสดงการแปรสัทลักษณะของเสียงพยัญชนะจากเสียงกักไล่ระดับถึงเสียงเสียดแทรก
ผลการศึกษาทั้งในคำพูดเดี่ยวและคำพูดต่อเนื่องพบว่า (kh) ของผู้พูดในรุ่นอายุมากมีอัตราส่วนค่าความเข้มต่ำที่สุด ซึ่งแสดงถึงรูปแปรที่มีระดับของการเสียดแทรกต่ำหรือเสียงกัก ตามด้วยผู้พูดวัยกลางคนที่มีอัตราส่วนค่าความเข้มอยู่ระหว่างรุ่นอายุมากและผู้พูดในรุ่นอายุน้อย ซึ่งแสดงถึงรูปแปรที่มีความคาบเกี่ยวระหว่างผู้พูดในรุ่นอายุมากและผู้พูดในรุ่นอายุน้อย และผู้พูดในรุ่นอายุน้อยที่มีอัตราส่วนค่าความเข้มสูงที่สุด ซึ่งแสดงถึงรูปแปรที่มีระดับของการเสียดแทรกสูง อัตราส่วนค่าความเข้มของทั้งสามกลุ่มไม่ได้แบ่งเป็นรูปแบบที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน แต่มีลักษณะไล่ระดับ ผู้พูดทั้งสามกลุ่มมีอัตราส่วนค่าความเข้มบางส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้พูดทั้งสามกลุ่มไม่ได้เลือกใช้รูปแปรที่ต่างกันเสมอไป อย่างไรก็ตาม ช่วงพิสัยของอัตราส่วนค่าความเข้มในคำพูดเดี่ยวกว้างกว่าในคำพูดต่อเนื่อง การกระจายของอัตราส่วนค่าความเข้มในคำพูดเดี่ยวอยู่ในช่วงตั้งแต่ระดับเสียงกักไปถึงระดับที่มีการเสียดแทรกสูงมาก ในขณะที่การกระจายของอัตราส่วนค่าความเข้มในคำพูดต่อเนื่องอยู่ในช่วงตั้งแต่ระดับเสียงกักไปถึงระดับที่มีเสียดแทรกปานกลางเท่านั้น ดังนั้น (kh) ในคำพูดต่อเนื่องจึงมีแนวโน้มไปทางเสียงกักหรือมีระดับความเสียดแทรกน้อยในทั้ง 3 รุ่นอายุมากกว่าในคำพูดเดี่ยว นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบการแปรภายในแต่ละรุ่นอายุ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอาชีพและการศึกษาของผู้พูดโดยผู้พูดในรุ่นอายุมากมีการแปรภายในกลุ่มมากที่สุด