Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์มโนทัศน์เรื่องความอยุติธรรมเชิงญาณวิทยาของมิแรนด้า ฟริกเกอร์ (Miranda Fricker) ฟริกเกอร์แบ่งความอยุติธรรมเชิงญาณวิทยาเป็นสองแบบ ได้แก่ความอยุติธรรมในการรับฟังคำบอกเล่าของผู้อื่น (Testimonial Injustice) หมายถึงการที่ผู้พูดถูกผู้ฟังตัดสินด้วยอคติที่มีต่อตัวผู้พูด และความอยุติธรรมในการตีความ (Hermeneutical Injustice) หมายถึงการที่บริบทของสังคมไม่เอื้อต่อการทำความเข้าใจประสบการณ์ของคนบางกลุ่ม โดยมีสาเหตุมาจากการที่ความรู้ของคนชายขอบไม่ถูกนำมารวมเป็นองค์ความรู้ของสังคม เธอเห็นว่าสาเหตุของความอยุติธรรมเชิงญาณวิทยามาจากอคติ โดยแสดงออกมาในรูปของสามัญทัศน์ที่มีอคติแฝงอยู่ (Prejudicial Stereotype) ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการใช้ความอ่อนไหวต่ออคติเพื่อจะไม่ตัดสินผู้พูดจากอคติที่แฝงอยู่ในสามัญทัศน์ วิทยานิพนธ์นี้จะอภิปรายข้อวิพากษ์ของนักญาณวิทยาต่างๆที่มีต่อข้อเสนอของฟริกเกอร์ ได้แก่ ลอร่า บีบี้ (Laura Beeby) ที่โต้แย้งว่าความอยุติธรรมในการตีความนั้นไม่ได้เป็นเรื่องเชิงญาณวิทยาแต่เป็นปัญหาจากสภาพสังคม และเจมส์ โบแมน (James Bohman) ที่แย้งว่าสาเหตุของความอยุติธรรมคือการครอบงำและจะแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการสร้างพื้นที่ที่ปราศจากการครอบงำ ทั้งนี้ผู้วิจัยได้นำแนวคิดที่สนับสนุนฟริกเกอร์มาร่วมอภิปรายด้วย ได้แก่ ไซมอน เม (Simon May) ซึ่งเสนอตัวอย่างแย้งให้เห็นว่าความอยุติธรรมที่ไม่ได้เกิดจากการครอบงำนั้นมีอยู่ และแซลลี่ ฮาสแลนเจอร์ (Sally Haslanger) ที่อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของอคติและเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการจัดการสิ่งผิดปกติ วิทยานิพนธ์นี้ต้องการเสนอว่าสาเหตุของความอยุติธรรมเชิงญาณวิทยานั้นเกิดได้ทั้งจากอคติและการครอบงำ โดยอคตินั้นเป็นจุดเริ่มต้นของสภาพสังคมที่มีการกดทับ ในขณะที่การครอบงำนั้นเป็นการทำให้สภาพสังคมดังกล่าวคงอยู่และสืบทอดอำนาจต่อไป ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้จึงต้องทำควบคู่กันไป ด้วยการส่งเสริมให้คนมีความตระหนักรู้ต่อความอยุติธรรมพร้อมกับการที่สถาบันเข้ามาสร้างให้คนรู้สิทธิของตนเองและไม่ปล่อยให้ถูกครอบงำโดยอคติ