Abstract:
ได้ทำการศึกษาอิทธิพลของเกลือโซเดียมคลอไรด์ในอาหารเลี้ยงเชื้อ ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเมตาบอลิสมของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินสายพันธุ์ Aphanothece halophytica พบว่าที่ระยะ Late log phase เมื่อเพิ่มความเข้มข้นของเกลือโซเดียมคลอไรด์จากสภาวะปกติ 0.5 M เป็น 1 M และ 2 M เซลล์มีความสามารถในการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นตามลำดับ ในขณะเดียวกันเอนไซม์ที่สำคัญในการสังเคราะห์แสงคือเอนไซม์ไรบูโลสบิสฟอสเฟตคาร์บอกซิเลสที่แยกสกัดออกมาจากเซลล์มีแอคติวิตีเพิ่มขึ้น และจากการตรวจวัดปริมาณเอนไซม์ตัวนี้โดยวิธีอิมมิวโนบลอททิงก็พบว่าปริมาณเอนไซม์เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของแอคติวิตีของเอนไซม์ ปริมาณโปรตีนส่วนที่ละลายได้ก็เพิ่มขึ้นด้วย ในช่วง Lag phase การเจริญของเซลล์ที่เลี้ยงในเกลือโซเดียมคลอไรด์ 2 M จะช้ากว่าที่เลี้ยงใน 1 M และ 0.5 M ส่วนอัตราการเจริญในช่วง Log phase ไม่มีความแตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของเกลือโซเดียมคลอไรด์จาก 0.5 M เป็น 2 M หรือจาก 2 M เป็น 0.5 M อย่างกระทันหันจะทำให้แอคติวิตีของเอนไซม์ไรโบนิวคลีเอสเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลา 36 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวอัตราการเปลี่ยนแปลงแอคติวิตีของเอนไซม์ตัวนี้ไม่แตกต่างกันนัก ไม่ว่าจะเลี้ยงเซลล์ที่ความเข้มข้นของเกลือโซเดียมคลอไรด์ 0.5 หรือ 1 หรือ 2 M นอกจากนี้ยังพบว่าในหลอดทดลองเกลือโซเดียมคลอไรด์ไม่มีผลยับยั้งแอคติวิตีของเอนไซม์ไรโบนิวคลีเอส