Abstract:
ภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดีเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมซึ่งมีเม็ดเลือดแดงที่ไวต่อสารอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ตามในสภาวะปกติผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดีมักไม่แสดงอาการ แต่ภายหลังจากได้รับสารอนุมูลอิสระอาทิเช่น ยาต้านมาลาเรียไพรมาควีนจะชักนำให้เม็ดเลือดแดงที่พร่องเอนไซม์จีซิกพีดีเกิดการแตกทำลายจำนวนมากซึ่งพบได้บ่อยในประเทศแถบเอเซีย ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดีที่ถูกต้องถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันผู้ที่ภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดีจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตกแบบฉับพลัน งานวิจัยชิ้นนี้ผู้วิจัยได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ของไหลฐานกระดาษแบบใหม่ “G6PD-PAD” สำหรับนำมาตรวจภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดีเชิงปริมาณวิเคราะห์เป็นครั้งแรก โดยอาศัยเทคนิค Wax printing ในการผลิตสร้างลวดลายวงกลมของหลุมปฏิกิริยาบนอุปกรณ์ตรวจของไหลฐานกระดาษและใช้หลักการตรวจวัดระดับความเข้มสีบนกระดาษ G6PD-PAD ที่อาศัยปฏิกิริยาเคมีจากการทำงานของเอนไซม์จีซิกพีดีผ่านปฏิกิริยารีดักชั่นเปลี่ยน TNBT เป็น Formazan ภายหลังจากมีการบันทึกภาพถ่ายอุปกรณ์ตรวจภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี G6PD-PAD ด้วยเครื่องสแกนเนอร์และวิเคราะห์ระดับความเข้มสีของภาพถ่ายนั้นด้วยโปรแกรม Adobe Photoshop CS6 ผลการศึกษาพบว่าระดับความเข้มสีที่เกิดบน G6PD-PAD มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับระดับการทำงานของเอนไซม์จีซิกพีดีมี (r2 = 0.802, p<0.001) โดยมีช่วงความเป็นเส้นตรงในการตรวจเท่ากับ 0.46-13.5 IU/gHb (r2 = 0.973) การวิเคราะห์ความต่างของผลตรวจจากทั้งสองวิธีด้วยสถิติ Bland - Altman พบว่าผลจากการตรวจด้วย G6PD-PAD สามารถยอมรับได้เมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐาน (ค่าเฉลี่ยความต่างของผลตรวจเท่ากับ 1 IU/gHb) ขีดจำกัดในการตรวจเท่ากับ 0.381 IU/gHb งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของอุปกรณ์ตรวจของไหลฐานกระดาษ G6PD-PAD ในการนำมาประยุกต์ใช้ตรวจภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี ซึ่งมีขั้นตอนการตรวจที่ไม่ยุ่งยาก ราคาถูกประมาณ 4 บาทต่อการตรวจ เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวินิจฉัยภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดีในพื้นที่ห่างไกล