Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้สติในการเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่ที่ฝึกสติปัฏฐาน ด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ การสร้างทฤษฎีฐานราก ที่สร้างทฤษฎีขึ้นจากข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลคือ พ่อแม่ผู้ฝึกสติปัฏฐานในระยะยาว จำนวน 10 ราย เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิจัยแบบสร้างทฤษฎีจากข้อมูล
ผลการวิจัยพบว่า ทฤษฎีฐานรากประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญได้แก่ 1) ความทุกข์ใจในการเลี้ยงดู อันแสดงถึง ลักษณะของความทุกข์ ที่มาของความทุกข์ใจ และการเปลี่ยนแปลงของความทุกข์ในการใช้สติในการเลี้ยงดู 2) รากฐานในการใช้สติในการเลี้ยงดู ประกอบด้วย ความตั้งมั่นของพ่อแม่ในการใช้สติกับลูก ความสงบ และใจที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการสังเกตใคร่ครวญ 3) กระบวนการเท่าทันและเข้าใจในการเลี้ยงดู คือ กระบวนการรู้เท่าทันในปัจจุบันขณะ การยับยั้งตนเอง กระบวนการทำความเข้าใจโดยอาศัยเวลาในการใคร่ครวญ และการแสดงออกต่อลูก 4) ความเข้าใจธรรมชาติในการเลี้ยงดู คือความเข้าใจในความเกี่ยวเนื่องระหว่างตนกับลูก การยอมรับในความไม่แน่นอนในการเลี้ยงดู และการวางใจในการเป็นพ่อแม่ 5) การตระหนักในคุณค่าของการใช้สติในการเลี้ยงดู ประกอบด้วย การตระหนักในคุณค่าที่เกิดกับตนเอง การตระหนักในคุณค่าที่เกิดกับลูก และการตระหนักในคุณค่าที่เกิดกับสัมพันธภาพ ทฤษฎีแสดงและอธิบายความสัมพันธ์ของทั้ง 5 ประเด็นที่มีความเชื่อมโยงกัน โดยเริ่มต้นจากพ่อแม่มีรากฐานในการใช้สติในการเลี้ยงดู และมีความทุกข์ใจในการเลี้ยงดู เชื่อมโยงไปสู่กระบวนการเท่าทันและเข้าใจในการเลี้ยงดู จึงได้ตระหนักในคุณค่าของการใช้สติในการเลี้ยงดู และเกิดความเข้าใจธรรมชาติในการเลี้ยงดู ซึ่งเชื่อมโยงกลับไปยังการเปลี่ยนแปลงของความทุกข์ และรากฐานในการใช้สติในการเลี้ยงดู
ทฤษฎีฐานรากที่ปรากฏขึ้นนี้ เป็นองค์ความรู้ที่นักจิตวิทยาการปรึกษาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างโปรแกรมพัฒนาสติในการเลี้ยงดูสำหรับพ่อแม่ และนักวิจัยสามารถนำไปประยุกต์ในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับสติในการเลี้ยงดูในแนวพุทธได้ต่อไป