Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิผลของการจินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มแบบร่วมมือกันและได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจ ในการลดเจตคติรังเกียจกลุ่มทั้งแบบเด่นชัดและแบบแอบแฝงของชาวไทยที่มีต่อชาวพม่า โดยการเทียบกับเงื่อนไขการจินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มแบบร่วมมือกัน (ไม่มีผู้มีอำนาจ) และเงื่อนไขควบคุม รวมทั้งศึกษาตัวแปรส่งผ่าน 2 ตัวแปร ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อคนนอกกลุ่ม และการรับรู้บรรทัดฐานภายในกลุ่ม โดยนิสิตระดับปริญญาตรีชาวไทยจำนวน 186 คน ได้รับคำสั่งให้จินตนาการตามเหตุการณ์ที่แตกต่างกันตามเงื่อนไข ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เงื่อนไขการมีปฏิสัมพันธ์ทางบวกกับชาวพม่าแบบร่วมมือกันและได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจ มีอิทธิพลทางอ้อมในการลดเจตคติรังเกียจชาวพม่าแบบเด่นชัด ผ่านการลดความวิตกกังวลต่อชาวพม่า และเพิ่มการรับรู้บรรทัดฐานทางบวกที่ควรมีต่อชาวพม่าภายในกลุ่มตนเอง ในฐานะตัวแปรส่งผ่านเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่พบว่ามีอิทธิพลในการลดเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบเด่นชัด เท่าเทียมกับการจินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มแบบร่วมมือกัน เมื่อเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ พบผลว่า ยังคงมีประสิทธิผลในการลดเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบเด่นชัดอยู่ อย่างไรก็ตามการจินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มทั้งสองเงื่อนไขนั้นไม่มีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการลดเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบแอบแฝง จากการวัดด้วยแบบทดสอบการเชื่อมโยงแบบแอบแฝง