Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาประเด็นความเสี่ยง ความเปราะบางและความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรต่อเหตุการณ์ที่ไม่ปกติของเกษตรกรบนที่ราบและที่สูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความกังวลต่อความเสี่ยง การเผชิญความเสี่ยง ผลกระทบจากความเปราะบางที่เกิดขึ้น กลยุทธ์การปรับตัวและปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต่อเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ โดยศึกษาเปรียบเทียบเกษตรกรที่ราบและที่สูงซึ่งมีรูปแบบการทำเกษตรแบบเดียวกันแต่แตกต่างกันที่ลักษณะของพื้นที่ เก็บข้อมูลตัวอย่างโดยใช้แบบสอบถามอย่างละ 40 ราย ในอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน แล้วนำมาวิเคราะห์ทางสถิติทั้งในเชิงพรรณนาและเชิงอนุมาน
ผลการศึกษาพบว่า 1) ครัวเรือนเกษตรกรทั้งที่ราบและที่สูงมีความกังวลและเผชิญกับความเสี่ยงมากที่สุดและรุนแรงที่สุดในด้านเดียวกัน คือ ความผันผวนของราคาผลผลิต โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตรกรมีความกังวลต่อความเสี่ยงในภาพรวมมากขึ้น ได้แก่ จำนวนแรงงานนอกภาคเกษตรและพื้นที่ทำการเกษตร และ ปัจจัยที่ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตรกรมีความกังวลต่อความเสี่ยงลดลง ได้แก่ การมีเงินออมและการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2) ผลกระทบจากความเปราะบางที่ตามมาคือการกู้หนี้ยืมสินเพิ่มมากขึ้น 3) เกษตรกรจัดการความเสี่ยงโดยการปรับตัวหลังการเผชิญความเสี่ยงมากกว่าการเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัย ครัวเรือนที่ราบมีศักยภาพในการปรับตัวโดยใช้กลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการลดความเปราะบางและเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวในอนาคตได้มากกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโครงสร้างพื้นนฐาน เช่น การปรับพื้นที่รับน้ำของหมู่บ้าน ส่วนครัวเรือนที่สูงโดยมากเลือกใช้กลยุทธ์ที่เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เช่น การเพิ่มอัตราการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง และ 4) ปัจจัยที่ส่งผลให้ครัวเรือนปรับตัวได้ดีขึ้น ได้แก่ รายได้ของครัวเรือนและการมีเงินออมสำรอง ในทางกลับกันปัจจัยที่ส่งผลให้ครัวเรือนปรับตัวได้ด้อยลง ได้แก่ จำนวนบุคคลในอุปการะและจำนวนหนี้สิน ส่วนกลยุทธ์การปรับตัวที่ครัวเรือนเกษตรกรใช้แล้วส่งผลให้ครัวเรือนปรับตัวได้ดีขึ้น ได้แก่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานในฟาร์มเพิ่มเติม ในทางกลับกันกลยุทธ์ที่ครัวเรือนเกษตรกรใช้แล้วส่งผลให้ครัวเรือนปรับตัวได้ด้อยลง ได้แก่ การทดลองปลูกพืชอื่น
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนเกษตรกรมีการเผชิญความเสี่ยงไม่ต่างกัน แต่ปัจจัยที่ทำให้ครัวเรือนมีความเปราะบางแตกต่างกันเป็นผลมาจากความแตกต่างทางด้านปัจจัยพื้นฐานหรือลักษณะทั่วไปของครัวเรือน และ ขีดความสามารถในการปรับตัวของครัวเรือนเกษตรกร ดังนั้นภาครัฐจึงควรจัดการกับปัจจัยพื้นฐานของครัวเรือนเกษตรกรเพื่อลดความอ่อนไหวจากการเผชิญความเสี่ยง และพัฒนาศักยภาพในการปรับตัวของครัวเรือนเกษตรกร ในแต่ละปัจจัยตามความแตกต่างของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม เพื่อนำไปสู่การลดความเปราะบางและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติต่อไป