Abstract:
สื่อสังคมออนไลน์ในฐานะพื้นที่สาธารณะยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 เติบโตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ Cyberspace นับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โดยมีรากฐานมาจากแนวคิดของ Jürgen Habermas (1989) นักทฤษฎีสังคมแบบสหวิทยาการชาวเยอรมัน ได้เสนอมโนทัศน์การเปลี่ยนรูปเชิงโครงสร้างของสังคมโดยได้อธิบายผ่านพื้นที่สาธารณะในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 18 สอดคล้องกับสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันซึ่งมีลักษณะของความเป็นสังคม (Sociality) (Fuchs, 2014) งานวิจัยนี้ได้ศึกษาสื่อสังคมออนไลน์ประเภท Facebook และ Line เพื่อหาคำตอบว่าทั้ง 2 สื่อสามารถทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะได้จริงหรือไม่ และมุ่งศึกษาว่ามีปัจจัยใดบ้างที่สนับสนุนและเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะ โดยได้ศึกษาด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) วิเคราะห์แนวคิดทฤษฎี บทความ ข่าวและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอัลกอริธึม (Algorithms) และฟีเจอร์ (Features) ร่วมกับการสังเกตการณ์ (Observation) จากการใช้งานจริงและสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างแบบ Active User นำไปสู่การวิเคราะห์ลักษณะการทำงานของสื่อและพฤติกรรมการใช้งานของคนในสังคมว่ามีการคัดเลือกเนื้อหาสาร รวมกลุ่มและแบ่งแยกกลุ่มที่สัมพันธ์ไปกับการออกแบบระบบการทำงานสื่อโดยมีกลุ่มทุนเป็นเจ้าของ และยังตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มอำนาจรัฐอีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่าอิทธิพลโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองมีอำนาจครอบงำอยู่เบื้องหลัง นอกจากนี้ข้อมูลของทั้ง 2 สื่อยังถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกับหลักเกณฑ์พื้นที่สาธารณะออนไลน์ว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ ในส่วนสุดท้ายของวิทยานิพนธ์สามารถสรุปได้ว่าสื่อสังคมออนไลน์ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะได้แต่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีลักษณะบางประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์พื้นที่สาธารณะ โดยมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคคือกลไกการทำงานของตัวสื่อและพฤติกรรมผู้ใช้งาน