Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของการเคลื่อนย้ายประชากรระหว่างประเทศต่อการพัฒนาสาธารณสุขชายแดน และศึกษาปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณสุข ณ พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ผ่านการใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพโดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากการวิจัยเอกสารที่เกี่ยวข้องและสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ประเด็นด้านสาธารณสุขชายแดนอันได้รับอิทธิพลหรือผลกระทบจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของไทยกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการพัฒนาพื้นที่ชายแดนเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภายใต้กรอบแนวคิด/ทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ (Neo – Liberal) และการเคลื่อนย้ายประชากรระหว่างประเทศ
จากการศึกษาพบว่า การเติบโตของพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนมีความต่อเนื่อง การเคลื่อนย้ายประชากรระหว่างประเทศภายใต้แนวคิดเสรีนิยมใหม่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้มีประชากรแฝงซึ่งเป็นคนข้ามชาติอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก อันส่งผลกระทบต่องานบริการด้านสาธารสุขชายแดนทั้งจำนวนหน่วยบริการสาธารณสุขและบุคลากรไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โอกาสการเกิดและแพร่กระจายโรคมีสูงขึ้น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องเข้าไปดูแลมีเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นหน่วยบริการสาธารณสุขของภาครัฐในพื้นที่ประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายที่ไม่อาจเรียกเก็บได้จากคนข้ามชาติที่เข้ามารักษา แม้ว่าจะมีแม่ตาวคลินิกช่วยแบ่งเบาภาระในการรักษาคนข้ามชาติที่มีรายได้น้อยแล้วก็ตาม ถือเป็นปฏิสัมพันธ์ในแง่ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและมูลนิธิหรือองค์กรพัฒนาเอกชนในการให้บริการผู้มีรายได้น้อยตลอดจนการป้องกันโรคติดต่อข้ามแดน ส่วนผู้มีรายได้สูงเลือกที่จะใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีความสะดวกสบายคล่องตัวมากกว่าแทน จากสภาพการณ์ที่มีคนข้ามชาติเข้ามารักษา ณ โรงพยาบาลของภาครัฐ จึงทำให้ผู้ป่วยที่เป็นคนไทยมีความอดทนมากขึ้นจากสภาพการณ์ของการรักษาพยาบาลที่แออัดเพราะตระหนักถึงผลประโยชน์ที่ได้รับร่วมกัน