Abstract:
แลคโตเฟอรินเป็นปัจจัยสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพหลายชนิด ทั้งเชื้อรา ไวรัส และแบคทีเรียขอบเขตกว้าง มีการศึกษาเกี่ยวกับกลไกและบทบาททางชีวภาพของแลคโตเฟอรินออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการศึกษาที่ผ่านมา ที่พบความสัมพันธ์ของระดับแลคโตเฟอรินที่ลดลงและการติดเชื้อราในช่องปาก อย่างไรก็ดี ยังไม่เคยมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของระดับแลคโตเฟอรินในน้ำลายของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นช่องทางให้เกิดการติดเชื้อราแคนดิดาในช่องปาก การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบระดับของแลคโตเฟอรินในน้ำลายก่อนและหลังการรักษาด้วยยาฟลูโอซิโนโลน อะเซทโทไนด์ ความเข้มข้นร้อยละ 0.1 ชนิดขี้ผึ้งป้ายปาก ในผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคไลเคนแพลนัสช่องปาก และกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นรอยโรคไลเคนอยด์ช่องปากสาเหตุจากยา ผลการทดลองไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของระดับแลคโตเฟอรินในน้ำลายเปรียบเทียบก่อนและหลังการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ทั้งในผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคไลเคนแพลนัสช่องปาก และกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นรอยโรคไลเคนอยด์ช่องปากสาเหตุจากยา (p = 0.100 และ 0.099 ตามลำดับ) นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ทางสถิติยังไม่พบความแตกต่างของอัตราการไหลของน้ำลาย และอัตราการไหลของแลคโตเฟอรินเปรียบเทียบก่อนและหลังการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ทั้งในผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคไลเคนแพลนัสช่องปาก และกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นรอยโรคไลเคนอยด์ช่องปากสาเหตุจากยา และจำนวนเชื้อราแคนดิดาในผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคไลเคนแพลนัสช่องปาก อย่างไรก็ดี ผลการนับจำนวนโคโลนีของราแคนดิดาก่อนและหลังการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นรอยโรคไลเคนอยด์ช่องปากสาเหตุจากยามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.028)