Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้อำนาจของข้าราชการในกระบวนการปฏิรูประบบราชการ และปัจจัยที่ส่งผล เพื่ออธิบายการขยายอาณาเขตของระบบราชการไทยจากผลของนโยบายการปฏิรูปที่ต้องการจำกัดอาณาเขตของระบบราชการ โดยเลือกใช้กรณีศึกษาการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการของกรมทางหลวงในช่วงปี พ.ศ. 2545 – 2559 การศึกษาครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบคุณภาพโดยใช้วิธีการศึกษาเอกสาร และเก็บข้อมูลการด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างและการสัมภาษณ์เชิงลึกจากข้าราชการในกรมทางหลวงในฐานะตัวแสดงที่เป็นผู้ชนะในการต่อสู้ทางอำนาจในกระบวนการปฏิรูประบบราชการ
ผลการศึกษาพบว่า นโยบายที่ต้องการควบคุมจำนวนข้าราชการเพื่อให้สามารถยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็นในภายหลังได้โดยไม่ต้องทำการเลิกจ้าง ได้ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของข้าราชการระดับสูงและความต้องการจัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อเพิ่มตำแหน่งบริหาร อันทำให้ระบบราชการขยายตัวขึ้น นำมาสู่ความต้องการควบคุมจำนวนข้าราชการต่อมาเป็นวงจร โดยข้าราชการมีวิธีการใช้อำนาจเพื่อบรรลุเป้าหมาย คือ การดำรงตำแหน่งทางการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบราชการ, การใช้จังหวะเวลาด้วยการกระทำในสิ่งที่แก้ไขภายหลังได้ยากและการถ่วงเวลา, การสร้างความมีเหตุผลแก่ข้อเสนอในการขยายขอบเขตของหน่วยงาน, การควบคุมข้อมูลและการสื่อสารที่อาจส่งผลลบต่อหน่วยงาน และ การใช้ความสามารถส่วนบุคคลในการผลักดันข้อเสนอของตนเอง ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้อำนาจนั้น คือ การที่นโยบายในการปฏิรูปไม่มีความแน่ชัดในจุดประสงค์และวิธีการ, กลไกควบคุมและประเมินผลการปฏิรูปไม่มีประสิทธิภาพ, วัฒนธรรมองค์การไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการปฏิรูป และการขาดเสถียรภาพทางการเมือง