Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการทำความเข้าใจกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในพม่าและผลต่อขบวนการแรงงาน โดยเฉพาะในช่วงปี 1988-2018 โดยมีคำถามสำคัญของงานวิจัยคือ ขบวนการแรงงานพม่ามีบทบาทและการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในช่วงระยะการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย โดยปัจจัย เงื่อนไข และกระบวนการก่อตัวของขบวนการแรงงานดังกล่าวนี้ จะเป็นกรณีศึกษาของการวิเคราะห์กระบวนการประชาธิปไตยที่กำลังดำเนินอยู่ในพม่าด้วย ภายใต้ทิศทางการวิจัยดังกล่าว ผู้วิจัยได้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ การสำรวจเอกสารทั้งข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปรากฎการณ์ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนงานวิชาการที่มีการศึกษาก่อนหน้า รวมถึงใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน 16 คน เพื่อทำความเข้าใจปรากฎการณ์ในเชิงลึก ตรวจสอบข้อมูล และสร้างการเชื่อมโยงที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ผู้วิจัยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Protest event analysis (PEA) ในการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานเพื่อช่วยในการตีความข้อมูลและพัฒนาข้อสรุปของงานวิจัย จากการวิจัยพบว่า ขบวนการแรงงานพม่าได้ก่อตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลาที่ศึกษา หากแต่ไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้น การขับเคลื่อนของขบวนการแรงงานมีแนวโน้มตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐหรือเรียกว่าเป็น “ขบวนการแรงงานที่ถูกรัฐกลืน” ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนของขบวนการฯไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองได้ หากแต่ขบวนการที่ก่อตัวขึ้นก็สามารถเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการนโยบาย ในฐานะโครงสร้างเชิงสถาบันที่รัฐสร้างขึ้น ซึ่งเป็นช่องทางและโอกาสสำคัญในการเรียกร้องและปกป้องสิทธิของตน ลักษณะของขบวนการแรงงานดังกล่าวสะท้อนลักษณะของภาคประชาสังคมพม่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านเช่นกัน ที่แม้จะกลับมามีบทบาทอีกครั้งในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย หากแต่เป็นบทบาทที่ค่อนข้างจำกัด ขาดลักษณะการขับเคลื่อนทางการเมือง และไม่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจในโครงสร้างการเมือง