Abstract:
การศึกษาบทบาทของตัวแสดงภายในประเทศที่ไม่ใช่รัฐกับนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทยต่อลาวในงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นการตอบคำถามว่า ตัวแสดงภายในประเทศที่ไม่ใช่รัฐใดที่มีบทบาทในการผลักดันการขับเคลื่อนและการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทยต่อลาว กรณีศึกษานโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองชายแดนไทย-ลาว โดยทำการศึกษาเมืองชายแดนไทย-ลาว ทั้งที่เป็นเมืองคู่แฝดทางเศรษฐกิจที่มีการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต และเมืองชายแดนไทย-ลาว ที่มิได้เป็นเมืองคู่แฝดทางเศรษฐกิจ ได้แก่ จังหวัดหนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์ และจังหวัดน่าน-แขวงไชยะบุลี เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินการนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทยต่อลาวในระดับพื้นที่/ระดับท้องถิ่น ข้อค้นพบจากการวิจัยครั้งนี้ พบว่า เมื่อพิจารณาบริบทของพื้นที่ประกอบกับบทบาทของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในการผลักดันการขับเคลื่อนนโยบายและการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทยต่อลาว ในระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ทั้ง 3 พื้นที่ตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่า เมืองชายแดนที่มีศักยภาพที่จะเป็นจุดขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ได้คือ จังหวัดมุกดาหารและจังหวัดหนองคาย เนื่องจากทั้งสองจังหวัดมีบริบทในเชิงพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ฝั่งตรงข้ามของทั้งสองจังหวัดมีความเป็นเมืองที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นกันและเป็นแขวงที่สำคัญทางเศรษฐกิจของลาว นั่นคือ แขวงสะหวันนะเขตและนครหลวงเวียงจันทน์ ด้วยทำเลที่ตั้ง และการมีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญคือ สะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-ลาว เหมือนกัน ทำให้เอื้อต่อการมีบทบาทของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับลาว โดยเฉพาะตัวแสดงภาคเอกชนของทั้งสองจังหวัด ส่วนทางด้านจังหวัดน่าน ซึ่งฝั่งตรงข้ามคือแขวงไชยะบุลีนั้นยังมีขนาดเศรษฐกิจที่เทียบกับทั้งสองแขวงที่กล่าวมาไม่ได้ อีกทั้ง สภาพพื้นที่ที่เชื่อมต่อระหว่างกันเป็นเขตพื้นที่ป่าและฝั่งไทยเป็นเขตป่าสงวน ทำให้ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในท้องถิ่นมีบทบาทในการขับเคลื่อนและกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองชายแดนไทย-ลาว อย่างจำกัด อันเนื่องมาจากนัยยะเชิงพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันดังที่กล่าวมา และเมื่อวิเคราะห์เมืองชายแดนไทย-ลาวที่มีศักยภาพที่จะเป็นจุดขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย-ลาว นั่นคือ จังหวัดมุกดาหารและจังหวัดหนองคาย ผลการศึกษา สะท้อนให้เห็นว่า ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐที่มีความเข้มแข็งและมีบทบาทในการผลักดันการขับเคลื่อนและการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทยต่อลาว ได้แก่ ตัวแสดงภาคเอกชนโดยเฉพาะหอการค้าจังหวัด โดยใช้สถานะ/ตำแหน่งในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัด (กรอ.จังหวัด) และคำนึงถึงผลประโยชน์ทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ด้วยการใช้ทรัพยากรนโยบายที่เป็นจุดเด่นของภาคเอกชน คือ ทรัพยากรข้อมูลข่าวสาร ความรู้เชิงลึกในพื้นที่ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจในท้องถิ่น รวมถึงทรัพยากรองค์การที่ภาคเอกชนมีทั้งกับเครือข่ายภาคเอกชนส่วนกลาง โดยเฉพาะสภาหอการค้าไทย และเครือข่ายกับนักธุรกิจลาวที่เป็นคู่ค้าทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนตัวแสดงภาครัฐส่วนภูมิภาคในการขับเคลื่อนนโยบายจากส่วนกลาง ทำให้จัดเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแบบหุ้นส่วน อีกทั้ง เมื่อทำการประเมินอิทธิพลและความสำคัญของตัวแสดงภาคเอกชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว ตัวแสดงภาคเอกชนในพื้นที่มีความสำคัญในระดับสูงจากการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการในกรอ.จังหวัด ในขณะที่ทางด้านอิทธิพลของตัวแสดงภาคเอกชน ในส่วนของหอการค้าจังหวัด พบว่า อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับตัวแสดงภาคเอกชนอื่นๆ ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง และตัวแสดงกลุ่มนักวิชาการ โดยความสำคัญและอิทธิพลของตัวแสดงภาคเอกชนดังกล่าวส่งผลต่อความสำเร็จในการผลักดันการกำหนดนโยบายผ่านข้อเรียกร้องทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาในพื้นที่หรือการค้าชายแดนไทย-ลาว อาทิ ตัวแสดงภาคเอกชนในจังหวัดมุกดาหารนำโดยหอการค้าจังหวัด สามารถผลักดันข้อเรียกร้องเชิงนโยบายในการขอเปิดจุดผ่อนปรนการค้าไทย-ลาวเพิ่ม และการเสนอให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสิทธิประโยชน์แก่ผู้ที่จะมาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร รวมถึงผลักดันการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการจัดตั้งสนามบินมุกดาหาร ส่วนบทบาทของตัวแสดงภาคเอกชนในจังหวัดหนองคายนั้น หอการค้าจังหวัดหนองคายสามารถรวมตัวกับตัวแสดงภาคเอกชนในกลุ่มจังหวัด อาทิ หอการค้าจังหวัดอุดรธานี เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนไทย-ลาว จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 10 ของลาวในปีพ.ศ. 2558 ซึ่งจากความพยายามแก้ไขปัญหาของตัวแสดงภาคเอกชนในพื้นที่ส่งผลให้สถานการณ์กลับมาสู่ภาวะปกติได้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2561