Abstract:
การวิจัยเชิงคุณภาพนี้มีวัตถุประสงค์มุ่งศึกษาโครงการนำร่องพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าติดตั้งบนหลังคาอย่างเสรี พ.ศ. 2559 ในนโยบายพลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงาน 2 ประเด็น คือ 1) ศึกษาการผลิตร่วมในการบริการสาธารณะ 2) ศึกษาอุปสรรคและแนวทาง การพัฒนาโครงการ โดยมีการเก็บข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ได้แก่ เจ้าหน้าที่รับผิดชอบโครงการของการไฟฟ้านครหลวง และ ประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการประเภทบ้านเรือนร้อยละ 86.08 ของผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ โดยผลการศึกษามีดังนี้ 1) โครงการนำร่องพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าติดตั้งบนหลังคาอย่างเสรีเป็นการผลิตร่วมตามแนวคิดการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ซึ่งต่างจากการการผลิตร่วมด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุขในแนวคิดการบริการสาธารณะแนวใหม่หรือธรรมาภิบาลภาครัฐใหม่ โดยแนวคิดการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่มองว่าประชาชนเป็นลูกค้า ในขณะที่แนวคิดการบริการสาธารณะแนวใหม่หรือธรรมาภิบาลภาครัฐใหม่มองว่าประชาชนเป็นมากกว่าหุ้นส่วน 2) อุปสรรคสำคัญของการผลิตร่วมในโครงการนำร่อง คือ ประชาชนเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนน้อย และขาดการมีส่วนร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะ หน่วยงานของรัฐควรส่งเสริมมาตรการจูงใจให้ประชาชนเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยตนเองหรือควรผลักดันให้ประชาชนเกิดความร่วมมือในการจัดทำบริการสาธารณะร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อก่อให้เกิดการรับผิดชอบร่วมกันซึ่งจะนำไปสู่การมีพลังงานอย่างยั่งยืน