Abstract:
ปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมกับความคิดเห็นของประชาชนในการไม่เคารพกฎหมาย กรณีศึกษา พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 : บทบังคับการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ มุ่งศึกษาบริบทเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อการปฏิบัติตามกฎหมายในบทบังคับการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างในชุมชนเขตเมืองและชุมชนนอกเขตเมืองเปรียบเทียบความแตกต่างของทัศนคติ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการรับรู้ข่าวสาร ด้านการวางแผนร่วมกัน และด้านการปฏิบัติและควบคุม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการปฏิบัติตามกฎหมาย
ผลการศึกษาพบว่า ความแตกต่างของบริบททางเศรษฐกิจและสังคมส่งผลต่อทัศนคติการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร โดยชุมชนนอกเขตเมืองสนับสนุนการสวมหมวกนิรภัยมากกว่าชุมชนเขตเมือง ทั้งนี้ การสื่อสารสร้างการรับรู้ข่าวสารภายในชุมชนสามารถสร้างพฤติกรรมเคารพกฎหมายจราจรในชุมชนนอกเขตเมืองได้ดีกว่า และแม้ว่าชุมชนเขตเมืองมีช่องทางให้เสนอความคิดเห็นอย่างสะดวก แต่การวางแผนร่วมกันภายในชุมชนเพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยยังคงน้อยกว่าชุมชนนอกเขตเมือง นอกจากนี้ ระดับการมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยนั้น ชุมชนนอกเขตเมืองมีระดับการลงมือปฏิบัติมากกว่า โดยชุมชนเขตเมืองมีแนวโน้มเพียงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเท่านั้น การพิจารณากำหนดกลไกและนโยบายส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย เพื่อลดอุบัติเหตุ จึงต้องปรับแต่งให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชุมชน กล่าวคือ ในชุมชนเขตเมืองควรใช้กลไกการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดของเจ้าหน้าที่ และในชุมชนนอกเขตเมือง ควรส่งเสริมระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนในการกำกับควบคุมพฤติกรรมของผู้ใช้รถจักรยานยนต์