Abstract:
อาชญากรรมเป็นปรากฏการณ์ของสังคมซึ่งเกิดจากความบกพร่องในการป้องกันอาชญากรรมของรัฐ เหยื่ออาชญากรรมจึงสมควรได้รับการช่วยเหลือในรูปแบบรัฐสวัสดิการจากนโยบายการช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินกระบวนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ศึกษาสภาพและผลการดำเนินงานตามนโยบาย วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบาย และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม การศึกษานี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน การวิจัยเชิงปริมาณเป็นการสืบค้นข้อมูลแนวกว้างจากกลุ่มตัวอย่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินนโยบายการช่วยเหลืออาชญากรรมโดยใช้การวิจัยเชิงสำรวจ การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นการสืบค้นข้อมูลแนวลึกเพื่ออธิบายข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้การวิจัยเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์โดยหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การจัดอันดับ วิเคราะห์การถดถอยพหูคูณ ข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์เนื้อหา สรุปประมวลผลเป็นความเรียง การผสมการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพใช้วิธีเปรียบเทียบผลการศึกษาที่ได้แบบประเด็นต่อประเด็น
ผลการศึกษาพบว่า ปัญหาหลักเป็นความเพียงพอของทรัพยากร การประชาสัมพันธ์สิทธิ์การได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐ เหยื่ออาชญากรรมยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมน้อย การดำเนินการช่วยเหลือและเยียวยาเหยื่ออาชญากรรมยังมีความล่าช้า งบประมาณในการช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมยังมีไม่เพียงพอ พนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังทราบว่ากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองน้อย นอกจากนี้ ปัจจัยด้านนโยบาย การบริหารจัดการ การประชาสัมพันธ์ การจัดสรรทรัพยากร การพัฒนาระบบช่วยเหลือและเยียวยา คณะกรรมการและอุทธรณ์ และปฏิบัติการช่วยเหลือและเยียวยา เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบาย
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะในการดำเนินนโยบายในการช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมในอนาคต ควรมีการกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาให้ชัดเจนและไม่คลุมเครือ ประชาสัมพันธ์การรับรู้สิทธิ์ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในนโยบายการช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายได้อย่างทั่วถึง เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงการช่วยเหลือประชาชนของภาครัฐ ควรจัดตั้งกองทุนสำหรับช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมโดยเฉพาะ โดยเงินกองทุนมาจากเงินประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินอุดหนุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคอุทิศให้ เงินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ ดอกผลและผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุน และไม่ควรให้เงินและทรัพย์สินของกองทุนต้องส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินในแต่ละปีงบประมาณ