Abstract:
เนื่องจากแบคทีเรียที่ผลิตสารกีดขวางช่องโซเดียมเมื่อเลี้ยงด้วยอาหารเลี้ยงเชื้อในห้องปฏิบัติการมักสร้างพิษนี้ได้ในระดับต่ำได้ทดลองนำหอยทราย (Asaphis violascens) ซึ่งพบว่ามีพิษสูงในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน และมีพิษต่ำในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม มาทำน้ำสกัด (infusion) โดยไม่ใช้ความร้อนในการทำให้ปราศจากเชื้อ เพื่อนำไปใช้เลี้ยงแบคทีเรียนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาปัจจัยบางอย่างในหอยทรายที่มีพิษต่างกัน ซึ่งอาจมีผลต่อการสร้างสารพิษของแบคทีเรีย และอาจเป็นสาเหตุของการมีระดับพิษต่ำในห้องปฏิบัติการ ได้ทดลองนำน้ำสกัดหอยทรายแต่ละระยะมาผสมลงในอาหารเลี้ยงเชื้อ L-medium, น้ำทะเล+0.2% กลูโคส, และน้ำทะเลอย่างเดียว แล้วนำมาเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย Vibrio sp. 4 สายพันธุ์ และ Micrococcus sp. 1 สายพันธุ์ โดยเปรียบเทียบกับการเลี้ยงเชื้อเหล่านี้ใน L-medium ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ วัดความสามารถในการกีดขวางช่องโซเดียมโดยวิธี mouse neuroblastoma tissue culture assay ผลการทดลองพบว่าทุกสายพันธุ์ที่เลี้ยงใน 50% น้ำสกัดหอยทรายพิษสูง จะสร้างสารกีดขวางช่องโซเดียมที่มีความเป็นพิษสูงที่สุด จากการวิเคราะห์ด้วย HPLC พบว่าเชื้อเกือบทุกสายพันธุ์จะสร้างอนุพันธุ์ Tetrodotoxins ได้ในอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดดังกล่าวนี้ จากผลการทดลองนี้จะสามารถกล่าวได้ว่า น่าจะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพิษจากหอยทรายที่มีอิทธิพลต่อส่วนประกอบของสารพิษที่แบคทีเรียสร้างขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจะพบได้ในหอยทรายระยะพิษสูง และปัจจัยนี้ไม่สามารถสร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการ