Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบมาตรการทางเลือกทดแทนโทษประหารชีวิตที่เหมาะสมในประเทศไทย เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค ของการนำมาตรการทางเลือกทดแทนโทษประหารชีวิตมาใช้ในประเทศไทย เพื่อเสนอแนวมาตรการทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อทดแทนโทษประหารชีวิต วิทยานิพนธ์เป็นงานวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) คือ การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Methodology) โดยการใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ และเชิงคุณภาพ (Qualitative Methodology) ด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ผู้วิจัยได้เลือกวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบโควต้า (Quota sampling) จากกลุ่มบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม คือ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ในกรุงเทพมหานครฯ และปริมณฑล จำนวน 210 ราย สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพได้ใช้วิธีการเจาะจง (Purposive Sampling) จากผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการยุติธรรม จำนวน 6 ราย
ผลการศึกษาพบว่า 1) บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการยุติธรรมเห็นด้วยต่อการใช้โทษประหารชีวิต ในกรณีที่โทษประหารชีวิตเป็นโทษสูงสุดทางอาญา มีความเหมาะสมกับความผิด มีส่วนในการข่มขู่มิให้ผู้ใดกระทำความผิดอีก การตัดโอกาสในการกระทำความผิดซ้ำ อย่างไรก็ตามโทษประหารชีวิตไม่สามารถแก้ไขความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมและไม่ได้ทำให้สถิติอาชญากรรมลดลง 2) บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยเห็นว่า โทษประหารชีวิตที่นำมาใช้ไม่สามารถควบคุมการกระทำผิดของคนในสังคม อย่างไรก็ตามหากจะต้องมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าควรยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยข้อกำหนดของกฎหมายเป็นอันดับแรก ส่วนการยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยการลดฐานความผิดที่มีโทษประหารชีวิตลงจากเดิม และการยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยข้อเท็จจริง (การยกเลิกในทางปฏิบัติ)นั้น ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าวิธีการเหล่านี้ยังไม่ใช่วิธีการยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างแท้จริง 3) บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการยุติธรรมกลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นต่อมาตรการทางเลือกทดแทนโทษประหารชีวิตในแต่ละรูปแบบนั้นมีจำนวนใกล้เคียงกัน คือ โทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการอภัยโทษ โทษจำคุกตลอดชีวิตโดยให้มีการอภัยโทษ และวิธีลงโทษที่ควรนำมาใช้แทนโทษประหารชีวิตอันดับสุดท้าย คือโทษจำคุกระยะยาวโดยมีการกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำ (ไม่น้อยกว่า 20 ปี แต่ไม่เกิน 40 ปี) ข้อเสนอแนะของการศึกษา คือ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมควรมีการจำกัดปริมาณการประหารชีวิต เช่น การใช้โทษอื่นแทนโทษประหารชีวิต การแก้ไขฟื้นฟูควรมีมาตรการที่ดี และงบประมาณที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้การแก้ไขฟื้นฟูมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้หันมาใช้การแก้ไขฟื้นฟูมากกว่าการแก้แค้นทดแทน รัฐควรมีการปรับโครงสร้างทางสังคม สถานภาพ การศึกษา และทางเศรษฐกิจให้ ประชาชนในสังคมได้มีความเสมอภาค และเท่าเทียม รวมทั้งมีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อป้องกันการเกิดอาชญากรรม กรมราชทัณฑ์ควรเสนอทางเลือกอื่นนอกเหนือจากโทษประหารชีวิตที่มีผลในการตัดผู้กระทำผิดออกไปจากสังคม เช่น โทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการอภัยโทษ รัฐควรจัดสรรงบประมาณให้แก่กรมราชทัณฑ์ในการสร้างเรือนจำความมั่นคงสูงเพื่อคุมขังผู้กระทำผิดร้ายแรง และควรเริ่มพัฒนามาตรการทางเลือกในการลงโทษรูปแบบอื่น ๆ ที่สามารถใช้ทดแทนโทษประหารชีวิตได้