Abstract:
งานวิจัยเรื่องการลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายของแรงงานไทยในสาธารณรัฐเกาหลีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของกระบวนลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ปัจจัยที่ส่งเสริมหรือผลักดันให้แรงงานตัดสินใจเลือกใช้ช่องทางผิดกฎหมาย และศึกษามุมมองของภาครัฐที่มีต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ผ่านแนวคิดเรื่องการอพยพแรงงานระหว่างประเทศ แนวคิดการเคลื่อนย้าย และมุมมองทางอาชญาวิทยา เพื่อทำความเข้าใจพลวัตและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของแรงงานเหล่านั้นต่อกระบวนการและสภาวะของการกระทำที่ผิดกฎหมายอาศัยการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยสัมภาษณ์เชิงลึกแรงงานผู้มีประสบการณ์ลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 5 คน บริษัทนำเที่ยว เจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมกับการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมและการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง
จากการวิจัยพบว่ารูปแบบของการลักลอบเข้าไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการเดินทางจากแต่เดิมที่อาศัยนายหน้าผิดกฎหมายมาสู่การเดินทางด้วยตนเองโดยมีผู้ให้ความช่วยเหลืออยู่ที่ปลายทาง เมื่อเทียบกับการเคลื่อนย้ายที่ผ่านมา พบว่าแรงงานส่วนใหญ่มีระดับของการศึกษาที่สูงขึ้นและมีอายุน้อยลงโดยเฉพาะกับผู้ที่เพิ่งตัดสินใจเดินทางไปทำงานอย่างผิดกฎหมายเป็นครั้งแรก เดิมที ผู้อพยพที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากเป็นคนกลุ่มหลักที่แสวงหาโอกาสจากตลาดแรงงานที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามจากการศึกษาการเคลื่อนย้ายของแรงงานผิดกฎหมายในปัจจุบันพบว่าการอพยพในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในกลุ่มของครอบครอบครัวชนชั้นกลางที่ไม่มีหนี้สินมากขึ้น แม้ว่ารายได้ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ แต่ปัจจัยอื่น ๆ อย่างเช่น โอกาสทางเศรษฐกิจ การรู้ช่องว่างทางกฎหมายและบทลงโทษที่ไม่รุนแรง รวมทั้งความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ และการมีประสบการณ์การเดินทางไปทั่วโลก ล้วนมีบทบาทอย่างมากต่อการกำหนดรูปแบบการอพยพย้ายถิ่นอย่างผิดกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป