Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาสภาพปัญหาการคุกคามทางเพศบนรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครจากทัศนะของผู้ใช้บริการที่เป็นเพศหญิง รวมถึงศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวกับการจัดการเชิงระบบขององค์การภาครัฐและองค์การพัฒนาเอกชนที่ร่วมมือกันในแคมเปญถึงเวลาเผือก และให้ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงความร่วมมือระหว่างองค์การ วิทยานิพนธ์นี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่เก็บข้อมูลด้วยเทคนิคการวิจัยเอกสาร เสริมกับเทคนิคการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 3 กลุ่มประชากรของประเทศไทย ได้แก่ ผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางที่เป็นเพศหญิงและเคยตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศ จำนวน 13 คน และผู้บริหารและพนักงานระดับปฏิบัติการในสังกัดองค์การภาครัฐและสังกัดองค์การพัฒนาเอกชน จำนวนละ 5 คน รวมเป็นทั้งสิ้น 10 คน ผู้วิจัยได้เลือกวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง และการสุ่มตัวอย่างแบบลูกโซ่ ผลการศึกษาพบว่า 1) สภาพปัญหาการคุกคามทางเพศบนรถโดยสารประจำทางมีรากเหง้ามาจากมายาคติชายเป็นใหญ่และมองเพศหญิงเป็นวัตถุทางเพศ 2) สภาพแวดล้อมทางกายภาพของรถโดยสารประจำทางยังไม่มีคุณภาพและความปลอดภัยที่เหมาะสม 3) การให้ความช่วยเหลือเหยื่อการคุกคามทางเพศของพนักงานสอบสวนบางคนที่มีทัศนคติขาดความเข้าใจในสภาพปัญหาดังกล่าว 4) มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวของแคมเปญถึงเวลาเผือก ยังมีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับรู้แก่ประชาชนที่ใช้บริการไม่ครอบคลุมทั่วถึงมากพอ และขาดการนำมุมมองของผู้หญิงที่เคยตกเป็นเหยื่อมาประยุกต์ใช้ในการสร้างมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม