Abstract:
แบคทีเรียซึ่งสามารถย่อยสลายสารประกอบพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ P2 ANT1 และ CU-A1 คัดแยกได้จากแหล่งดินปนเปื้อนผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศไทยแบคทีเรียสายพันธุ์ P2 ซึ่งสามารถย่อยสลายฟีแนนทรีนคัดแยกได้จากดินปนเปื้อนน้ำมันเครื่องในจังหวัดปราจีนบุรี แบคทีเรียสายพันธุ์ ANT1 ซึ่งสามารถย่อยสลายแอนทราซีนและแบคทีเรียสายพันธุ์ CU-A1 ซึ่งย่อยสลายอะซีแนพธิลีนคัดแยกได้จากดินปนเปื้อนน้ำมันปิโตรเลียมในกรุงเทพมหานคร เมื่อนำมาจำแนกชนิดทางอนุกรมวิธานตามลักษณะฟีโนไทป์ ร่วมกับการวิเคราะห์ลำดับเบสของ 16 เอสไรโบโซมัลดีเอ็นเอ พบว่าแบคทีเรียสายพันธุ์ P2 และ ANT1 เป็นแบคทีเรียในสกุล Sphingomonas ส่วนแบคทีเรียสายพันธุ์ CU-A1 จัดเป็นแบคทีเรียในสกุล Rhizobium ซึ่งเป็นการพบครั้งแรกสำหรับเชื้อแบคทีเรีย Rhizibium ที่สามารถย่อยสลายอะซีแนพธิลีนซึ่งเป็น PAHs Sphingomonas sp. สายพันธุ์ P2 ย่อยสลายฟีแนนทรีนในอาหารเหลว CFMM ได้อย่างรวดเร็วจากปริมาณเริ่มต้น 100 มก.ต่อ มล. ลดเหลือในปริมาณที่ไม่สามารถตรวจวัดได้ด้วยไฮเพอร์ฟอมานซ์วิควิดโครมาโตกราฟีหลังเลี้ยงเชื้อเป็นเวลา 72 ชั่วโมง นอกจากนี้แบคทีเรียสายพันธุ์ P2 สามารถย่อยสลายแนพธาลีน อะซีแนพธิลีน อะซีแนพธีน ฟลูออรีน แอนทราซีน และไดเบนโซฟูแรน Sphingomonas sp. สายพันธุ์ ANT1 ย่อยสลายแอนทราซีนเป็นสารมัธยันต์ที่ไม่สามารถย่อยสลายต่อไปชนิดหนึ่งซึ่งมีค่า Rt2 นาที เมื่อเลี้ยงเชื้อเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ซึ่งสารมัธยันต์ชนิดนี้อาจเป็นเหตุให้จำนวนเซลล์ลดลง นอกจากแอนทราซีนแล้วสายพันธุ์ ANT1 ยังสามารถย่อยสลายแนพธาลีน ฟีแนนทรีนไดเบนโซฟูแรน และฟลูออรีน Rhizobium sp. สายพันธุ์ CU-A1 ย่อยสลายอะซีแนพธิลีนในอาหารเหลว CFMM จากปริมาณเริ่มต้น 600 มก.ต่อ มล. จนไม่สามารถวัดได้โดยวิธีไฮเพอร์ฟอมานซ์วิควิดโครมาโตกราฟีหลังการเลี้ยงเชื้อ 3 วัน นอกจากอะซีแนพธิลีนแล้วสายพันธุ์ CU-A1 ยังสามารถย่อยสลายแนพธาลีน ไดเบนโซฟูแนน และอะซีแนพธีน