Abstract:
โครงการวิจัยเรื่อง “การรื้อสร้างภาพยนตร์ศิลปะ: หน่วยความทรงจำวัยเด็กของฉัน” เป็นการวิจัยในเชิงการสร้างสรรค์ทางศิลปกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อหาแนวคิดและกระบวนการ (ขั้นตอน) การสร้างสรรค์ภาพยนตร์ศิลปะ (Art Film) โดยใช้แนวความคิดการรื้อสร้าง (Deconstruction) 2.เพื่อหารายละเอียดของแนวทางในแต่ละแนวคิดของการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ศิลปะ และ 3.เพื่อนำผลที่ได้จากการวิจัยนำมาเป็นกรอบในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ศิลปะเรื่องหน่วยความทรงจำวัยเด็กของฉัน โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ผ่านชุดเครื่องมือวิจัย คือ 1.ศึกษาวิจัยผ่านผลงานภาพยนตร์ศิลปะของผู้กำกับไทย จำนวนรวมทั้งหมด 10 เรื่อง ที่ได้รับการสร้างสรรค์ในระหว่างปี พ.ศ.2553 - 2560 2.การสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มประชากรตัวอย่าง คือ ผู้กำกับ นักวิจารณ์ อาจารย์ ศิลปิน ภัณฑารักษ์ โปรดิวเซอร์ และผู้เชี่ยวชาญที่มีความเกี่ยวข้องในทุกส่วนระบบสายงานของกระบวนการผลิตสร้างภาพยนตร์ศิลปะหรือภาพยนตร์นอกกระแสของประเทศไทย จำนวน 30 ท่าน และ3.การจัดสัมมนาวิชาการ จำนวน 8 ครั้ง ที่มีลักษณะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในแนวความคิด และกระบวนการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ศิลปะ หรือภาพยนตร์นอกกระแสของไทย
ผลการวิจัยพบว่า คำตอบวัตถุประสงค์ที่ 1 ได้ 10 กระบวนการ (ขั้นตอน) ในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ศิลปะ 1.การหา (Idea) แนวความคิด 2.การเลือกแนวความคิด (Idea / Subjective) 3.การกำหนดวัตถุประสงค์ (Objective / Story) 4.การกำหนดองค์ประกอบของโครงเรื่อง 5.การขยายรายละเอียดที่จับต้องได้ (Tangible) ขององค์ประกอบของโครงเรื่อง (Outline) 6.การขยายรายละเอียดที่จับต้องไม่ได้ (Intangible) ขององค์ประกอบของโครงเรื่อง (Outline) 7.การกำหนดโครงสร้าง (Structure) ของภาพยนตร์ ครั้งแรก 8.การตรวจสอบ - การตอบโจทย์โดยผู้เชี่ยวชาญ 9.การกำหนดโครงสร้าง (Structure) ของภาพยนตร์ อีกครั้ง (รื้อโครงสร้าง ทบทวน และปรับปรุง) 10.การประเมินผลก่อนการสร้างภาพยนตร์ด้วย 2C1N : Concept (ประเด็น) Content (เนื้อหา) Narrative (การนำเสนอ) คำตอบวัตถุประสงค์ที่ 2 ได้ชุดคำตอบที่ได้จากการวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่างประเภทผลงานภาพยนตร์ศิลปะ 10 เรื่อง เป็นรายละเอียดที่พบบ่อยในแต่ละขั้นตอนของการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ศิลปะ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางและทางเลือก ในการกำหนดแนวความคิด (Idea) องค์ประกอบ (Element) การเล่าเรื่อง (Storytelling) และการประเมินผล