Abstract:
บินดุจปลาที่แหวกว่ายในท้องน้ำราวกับว่าโบยบินในแผ่นฟ้า ว่ายดั่งนกที่บินถลาเล่นลมบนนภา ราวกับว่าโล้คลื่นในผืนน้ำ คือสาระทางความคิดที่ต้องการถ่ายทอดและสื่อความหมายเกี่ยวกับความเป็นงานศิลป์ผ่านสระว่ายน้ำ วิทยานิพนธ์เรื่องการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะภาพถ่ายใต้นํ้า: บินดุจปลา ว่ายดั่งนกได้แนวความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจมาจากการที่ผู้วิจัยมองเห็นพื้นที่ใต้น้ำเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ร่วมกับประสบการณ์ที่ผู้วิจัยเคยทำงานร่วมกับผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างงานศิลปะโดยเปลี่ยนมุมมองเรื่องพื้นที่ใช้สอยไปสู่พื้นที่สร้างสรรค์ทางศิลปะ (Artistic Site) ได้เป็นในความหมายใหม่ คือ พื้นที่แห่งความปรารถนา (The Place of Desire) และเพื่อสร้างกระบวนการศิลปะเชิงกิจกรรมที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับพื้นที่สร้างสรรค์ทางศิลปะ
ผู้วิจัยได้นำสาระสำคัญของแนวคิดทางศิลปกรรมทางด้านศิลปะ Readymade Object ศิลปะเชิงกิจกรรม (Activist Art) งานศิลปะที่มีอิทธิพลต่อความคิดสร้างสรรค์ “This is so Contemporary” ของ Tino Sehgal ผสานกับแนวความคิดทางจิตวิเคราะห์เรื่องความขาดพร่อง (Lack) และความขาดพร่อง (Desire) ของ Jacques Lacan มาเป็นวิธีในการเปลี่ยนมุมมองต่อสระว่ายในฐานะพื้นที่ใช้สอยมาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ทางศิลปะ และวิธีการสร้างสรรค์ศิลปะเชิงกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาสัมผัสกับพื้นที่สร้างสรรค์ทางศิลปะที่ผู้วิจัยได้ให้ความหมายใหม่ ทำให้ได้ผลงานภาพถ่ายใต้น้ำ จำนวน 7 ชุด ที่สะท้อนให้เห็นสัมพันธภาพระหว่างความขาดพร่องกับความปรารถนาที่อยู่ในเบื้องลึกของจิตไร้สำนึกและก้นบึ้งของจิตสำนึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่แห่งความปรารถนา ด้วยการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความปรารถนาของตนเองออกมาในสระว่ายน้ำ เพราะสระว่ายน้ำได้แปรเปลี่ยนข้อจำกัดด้านความบกพร่องของร่างกายผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้ไร้ข้อจำกัด เพื่อพวกเขาได้ปลดปล่อยตนเองตามความปรารถนา ด้วยจินตนาการตามที่วาดหวัง ราวกับว่า เป็นอยู่และมีอยู่จริง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นทั้งผู้ชมและผู้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ส่วนผู้วิจัยทำหน้าที่เป็นผู้บันทึกและถ่ายทอดฉากชีวิตของผู้เข้าร่วมกิจกรรมและเรื่องเล่าอันเป็นที่มาของความปรารถนาที่ได้เข้าเติมเต็มความขาดพร่อง