Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือ 1) เพื่อศึกษาแนวทางการออกแบบลวดลายซ้ำทางเรขศิลป์ ที่แสดงออกถึงความเป็นวัฒนธรรมไทยมลายู 2) เพื่อหาแนวทางการสื่อสารอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทยมลายู สำหรับเจเนอเรชั่น วาย ซึ่งมีขั้นตอนวิจัยโดยศึกษาข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ เพื่อสร้างแบบสอบถามนำมาวิเคราะห์เป็นแนวทางเพื่อออกแบบลวดลายซ้ำ และนำผลที่ได้ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับทำแบบสอบถามสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับกลุ่มเป้าหมายเจเนอเรชั่น วาย โดยผลวิจัยพบว่า สิ่งที่สามารถสื่อสารวัฒนธรรมไทยมลายูนั้นสามารถแบ่งตามแนวทางรากวัฒนธรรมได้ 8 หมวดหมู่ ซึ่งได้แก่ 1) อาหาร 2) เครื่องแต่งกาย 3) ส่วนประกอบของสถาปัตยกรรม 4) ประเพณี 5) การละเล่น 6) ความเชื่อ พิธีกรรม 7) หัตถกรรม 8) วรรณกรรมพื้นบ้านและตำนาน ซึ่งสิ่งที่สื่อสารวัฒนธรรมไทยมลายูส่วนใหญ่เป็นเรื่องของวิถีชีวิต มีความเกี่ยวข้องกับอาหารการกิน อาชีพ ประเพณีท้องถิ่น สิ่งของเครื่องใช้ การละเล่นพื้นบ้าน รวมไปถึงเรื่องเล่าขานที่เป็นอดีต และรูปทรงมีความเหมาะสมที่ใช้สื่อสารวัฒนธรรมไทยมลายู คือรูปทรง ธรรมชาติ (Organic) รูปทรงเขียนมือ (Hand-Draw) รูปทรงเรขาคณิต (Geometric) และรูปทรงอุบัติเหตุ (Accidental) และมีบุคลิกภาพสีที่เหมาะสม คือ โบราณ (Classic) มีชีวิตชีวา (Dynamic) ดูสง่างาม (Elegant) และดูเป็นธรรมชาติ (Natural)