Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารูปแบบและหาแนวคิดที่ได้หลังการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ของสตรีชาวอีสาน โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ การสัมภาษณ์เชิงลึกของกลุ่มสตรีอีสาน จำนวน 30 คน การสังเกตการณ์ การสัมมนา เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน สื่อสารสนเทศและประสบการณ์ของผู้วิจัย
ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการแสดงมีองค์ประกอบ 8 ประการ ได้แก่ 1) การออกแบบบทการแสดงเป็นการเล่าเรื่องแบบละคร แบ่งเป็น 3 องก์ ได้แก่ องก์ 1 กลางแปลง องก์ 2 ภาพลักษณ์ และองก์ 3 สตรีอีสาน 2) การคัดเลือกนักแสดงใช้นักแสดงที่มีทักษะที่หลากหลายและสามารถสื่อสารภาษาอีสานได้ 3) การออกแบบลีลาการเคลื่อนไหว ประกอบด้วย ลีลาในชีวิตประจำวัน (Everyday Movement) ลีลาการเคลื่อนไหวที่แสดงอารมณ์แบบละคร (Acting) และการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมือง 4) การออกแบบเครื่องแต่งกาย ใช้เครื่องแต่งกายพื้นบ้านอีสานและการแต่งกายในชีวิตประจำวันที่มีความเรียบง่าย 5) การออกแบบอุปกรณ์ประกอบการแสดง ใช้เสื่อเพื่อกำหนดพื้นที่การแสดงและใช้อุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน 6) การออกแบบดนตรีและเสียงประกอบการแสดง เสียงที่เกิดขึ้นในการแสดงประกอบด้วย เสียงสนทนา เสียงบรรยายและเสียงจากเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน 7) การออกแบบสถานที่ จัดแสดง ณ โรงละครแบล็ค บ๊อกซ์ เธียร์เตอร์ (Black Box Theatre) โดยใช้หนังกลางแปลงเป็นฉากประกอบการแสดง 8) การออกแบบแสง เพื่อสร้างมิติให้กับการมองเห็นสัดส่วนของฉากประกอบการแสดง และเพื่อช่วยเสริมบรรยากาศและสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ส่วนแนวคิดที่ได้หลังการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ เรื่อง การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ของสตรีอีสานผ่านการชมหนังกลางแปลง ประกอบด้วยแนวคิด 6 ประการ คือ 1) การคำนึงถึงการสะท้อนภาพลักษณ์ของสตรีอีสาน 2) การคำนึงถึงแนวคิดด้านสังคมวิทยา 3) การคำนึงถึงแนวคิดเกี่ยวกับภาพยนตร์และหนังกลางแปลง 4) การคำนึงถึงแนวคิดเกี่ยวกับการโหยหาอดีต 5) การคำนึงถึงแนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 6) การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ทางด้านนาฏศิลป์ ผลของงานวิจัยครั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของงานวิจัยโดยครบถ้วน และคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยและผู้สร้างสรรค์งานในอนาคต