Abstract:
งานวิจัยเรื่อง “การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากข้อถกเถียงเรื่องเพศ” มีรูปแบบในลักษณะการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและแนวคิดหลังการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากข้อถกเถียงเรื่องเพศ โดยศึกษาปรากฏการณ์ของข้อถกเถียงเรื่องเพศวิถีและความเท่าเทียมในมนุษย์ นาฏยศิลป์สร้างสรรค์ในปัจจุบัน ศิลปะแบบสมัยใหม่และแบบหลังสมัยใหม่ที่ส่งผลต่องานนาฏยศิลป์ เพื่อเป็นพื้นฐานประกอบในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ จากนั้นผู้วิจัยได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงเอกสาร สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย สื่อสารสนเทศอื่น ๆ ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผล และนำเสนอผลงานวิจัย
ผลการวิจัยพบว่า การสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์เป็นการนำเสนอเรื่องราวของข้อถกเถียงเรื่องเพศมาสร้างสรรค์เป็นงานนาฏยศิลป์เพื่อสังคมลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นการแสดงข้อถกเถียงเรื่องเพศทางด้านเพศวิถีและความเท่าเทียมในมนุษย์ ตามทรรศนะของวิทยาศาสตร์ มานุษยวิทยาและสังคมวิทยา สามารถจำแนกตามองค์ประกอบของการสร้างสรรค์ผลงงานทางด้านนาฏยศิลป์ทั้งหมด 8 ประการ ได้แก่ 1) บทการแสดง สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ภายใต้ลักษณะของข้อถกเถียงเรื่องเพศทางด้านเพศวิถีและความเท่าเทียมในมนุษย์ตามทรรศนะของวิทยาศาสตร์ มานุษยวิทยาและสังคมวิทยา แบ่งออกได้ทั้งหมด 4 องก์ ได้แก่ องก์ 1 เพศกำหนด (Sex Determination) องก์ 2 จิตวิญญาณ (Soul) องก์ 3 พื้นที่การแสดงออก (Space) และองก์ 4 การเคลื่อนไหวของเพศวิถี (Sexuality Movement) 2) นักแสดง มีความรู้ ความเข้าใจและความสามารถทางด้านนาฏยศิลป์ รวมถึงมีประสบการณ์เกี่ยวกับเพศวิถีและความเท่าเทียมในมนุษย์ 3) ลีลานาฏยศิลป์ นำเสนอผ่านรูปแบบนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ โดยการนำแนวคิดของมาธ่า เกร์แฮม (Matha Graham) ดอริส ฮัมเฟรย์ (Doris Humphrey) พอล เทย์เลอร์ (Paul Taylor) และพีน่า เบาซ์ (Pina Bausch) ในการเคลื่อนไหวการด้นสด การใช้ท่าทางในชีวิตประจำวัน และการแสดงอารมณ์ทางการเคลื่อนไหว 4) เสียงและดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ได้รับการสร้างสรรค์และประพันธ์เพลงขึ้นใหม่ สามารถสื่อความหมายและสื่อสารอารมณ์ 5) เครื่องแต่งกาย ใช้การออกแบบจาก 3 แนวคิด คือ หลักศิลปะมินิมอลลิสม์ (Minimalism) หลักทฤษฎีน้อยดีกว่ามาก (Less is more) และแนวคิดแบบอาวองการ์ด (Avant-garde) 6) พื้นที่การแสดง นำเสนอการแสดงบนพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่ลักษณะโรงละคร โดยจัดแสดงบริเวณพื้นที่แบบเปิด และมีมุมมองรอบด้านลักษณะวงกลม 7) แสง ใช้แนวคิดทฤษฎีของสีในการนำเสนอเรื่องราว อารมณ์ และความรู้สึก 8) อุปกรณ์ประกอบการแสดง ใช้แนวคิดสัญลักษณ์ เน้นความเรียบง่าย และสื่อสารได้ง่าย อีกทั้งมีแนวคิดหลังการสร้างสรรค์ผลงาน 7 ประการ ได้แก่ 1) แนวคิดเรื่องเพศวิถีและความเท่าเทียมในมนุษย์ 2) แนวคิดข้อถกเถียงเรื่องเพศในปัจจุบัน 3) แนวคิดความคิดสร้างสรรค์ในผลงานนาฏยศิลป์ 4) แนวคิดการใช้สัญลักษณ์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 5) แนวคิดทฤษฎีทางด้านนาฏยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และทัศนศิลป์ 6) แนวคิดของนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 7) แนวคิดการสะท้อนสภาพสังคมผ่านการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์เพื่อสังคม ซึ่งผลการวิจัยทั้งหมดนี้มีความสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกประการ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้เพื่อพัฒนาการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ รวมถึงการผนวกและบูรณาการศาสตร์แขนงอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับข้อเถียงเรื่องเพศ เพื่อนำมาเป็นแนวคิดและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านาฏยศิลป์ อีกทั้งยังประประโยชน์เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ต่อไปในอนาคต