Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและแสวงหาแนวคิดที่ได้หลังการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ที่สะท้อนเปลือกนอกของคนในสังคมไทย ด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพและวิจัยเชิงสรรค์ที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ การสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์ การสัมมนา สื่อสารสนเทศ เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน และประสบการณ์ของผู้วิจัย นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ตามกระบวนการที่กำหนดไว้
ผลการวิจัยพบว่า การสร้างสรรค์ผลงานทางนาฏยศิลป์ครั้งนี้ เป็นการนำประเด็นเรื่องเปลือกนอกของคนในสังคมไทยเข้ามาเป็นสาระสำคัญในการออกแบบสร้างสรรค์รูปแบบการแสดงโดยสามารถจำแนกองค์ประกอบทางนาฏยศิลป์ออกเป็น 8 ประการ ได้แก่ 1) บทการแสดงนำแนวคิดมาจากการตีความประเด็นเปลือกนอกของคนในสังคมไทยทางด้านสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ 2) นักแสดงมีความสามารถทางด้านนาฏยศิลป์และการแสดงอารมณ์ความรู้สึกแบบละคร 3) ลีลาการเคลื่อนไหวใช้ลีลาที่หลากหลาย ได้แก่ ลีลาละครใบ้ (Mime) ลีลาในชีวิตประจำวัน (Everyday Movement) ลีลาการทำซ้ำ (Repetitive Movement) และลีลาการเคลื่อนไหวที่แสดงอารมณ์แบบละคร (Acting) 4) เครื่องแต่งกายคัดเลือกจากเสื้อผ้าในชีวิตประจำวัน ได้แก่ เครื่องแต่งกายที่เรียบง่าย (Simplicity) และเครื่องแต่งกายที่เป็นเครื่องแบบ (Uniform) 5) อุปกรณ์ประกอบการแสดงเน้นความเรียบง่าย โดยนำเสนอผ่านการใช้สัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมายตรงและความหมายแฝง ได้แก่ หน้ากาก แท่นแสดงสินค้า (Display) และเก้าอี้ 6) เสียง เป็นการใช้ความเงียบเพื่อให้ความสำคัญกับภาพและลีลาการเคลื่อนไหว เสียงจากบทพูดของนักแสดง เสียงประกอบเรื่อง และเสียงสังเคราะห์จากเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ 7) แสงใช้ในการสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ เสริมอารมณ์ความรู้สึกและบรรยากาศ ตลอดจนใช้แสงสร้างพื้นที่การแสดงบนเวที และ 8) พื้นที่การแสดงใช้สถานที่ภายในโรงละคร นอกจากนี้แนวคิดที่ได้หลังการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ที่สะท้อนเปลือกนอกในสังคมไทย ปรากฏแนวคิดที่สำคัญ 7 ประการ ได้แก่ 1) การคำนึงถึงเปลือกนอกในสังคมไทย 2) การคำนึงถึงแนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 3) การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ 4) การคำนึงถึงสัญลักษณ์ในงานนาฏยศิลป์ 5) การคำนึงถึงทฤษฎีทางด้านทัศนศิลป์ 6) การคำนึงถึงการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อศิลปะ และ 7) คำนึงถึงความเรียบง่ายในงานนาฏยศิลป์ การวิจัยครั้งนี้จึงเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ เชื่อมโยงประสบการณ์และพัฒนากระบวนการสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อวงการวิชาการและวงการนาฏยศิลป์ ตลอดจนเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานของผู้สร้างสรรค์ผลงานในอนาคต