Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง “การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์เพื่อสะท้อนภาพความเชื่อเรื่องกุมารทองในสังคมไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อหารูปแบบและแนวคิดหลังการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์เพื่อสะท้อนภาพความเชื่อเรื่องกุมารทองในสังคมไทย โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากตัวละครกุมารทองที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง ขุนช้างขุนแผน และยังคงสืบทอดคติความเชื่อเรื่องกุมารทองมาจนถึงปัจจุบัน จึงเกิดแนวคิดหลักในการดำเนินงานด้วยการนำกุมารทองมาเป็นสัญลักษณ์สะท้อนภาพความเชื่อของคนในสังคมไทย โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพในรูปแบบของงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ การค้นคว้าเอกสาร การสัมภาษณ์ การสัมมนา สื่อสารสนเทศ การเก็บข้อมูลภาคสนาม และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย โดยนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ และสรุปผล ตามลำดับ
ผลการวิจัยพบว่า ในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์สามารถจำแนกองค์ตามประกอบของการแสดงได้ 8 ประการ ได้แก่ บทการแสดง ลีลา ผู้แสดง เสียงและดนตรี อุปกรณ์การแสดง เครื่องแต่งกาย แสง และสถานที่การแสดง ซึ่งการออกแบบในแต่ละองค์ประกอบมีกระบวนการคิดสร้างสรรค์จากจุดเริ่มต้นในการสะท้อนภาพความเชื่อเรื่องกุมารทอง เริ่มจากการแบ่งบทการแสดงออกเป็น 3 องก์ โดยเล่าเรื่องราวเป็นลำดับเหตุการณ์ตามระยะเวลา ได้แก่ องก์ที่ 1 กำเนิด องก์ที่ 2 อิทธิฤทธิ์ องก์ที่ 3 ความเชื่อ ซึ่งเป็นการนำเสนอการตีความผ่านศิลปะการแสดงนาฏยศิลป์ร่วมสมัย โดยคัดเลือกผู้แสดงที่มีทักษะความสามารถทางด้านนาฏยศิลป์ และบุคลิกลักษณะเหมาะสมกับบทบาทที่ได้รับ มีการออกแบบเครื่องแต่งกายที่บ่งบอกถึงยุคสมัย และแฝงการสร้างสัญญะของความเชื่อเรื่องกุมารทองไว้ในการออกแบบเครื่องแต่งกาย อีกทั้งยังมีการใช้เสียงและแสงในการสร้างบรรยากาศ และกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของ
ผู้แสดงและผู้ชม นอกจากนี้ยังมีการออกแบบอุปกรณ์ที่ใช้หลักทฤษฎีสัญวิทยาในการให้ความหมายของอุปกรณ์ประกอบการแสดง ทำให้เกิดมิติทางความหมายที่แตกต่างจากการตีความหมายในมุมมองของความเชื่อเรื่องกุมารทอง โดยใช้สถานที่โรงละครแห่งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (Black Box Theatre) ในการช่วยสร้างภาพลวงตาในการรับชมการแสดงได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แนวคิดหลังการการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์มี 5 ประการ ได้แก่ 1) การคำนึงถึงเนื้อหากุมารทองจากวรรณกรรมไทย 2) การคำนึงถึงความเชื่อเรื่องกุมารทองผ่านงานสร้างสรรค์ทางด้านนาฏยศิลป์ 3) การคำนึงถึงการใช้ทฤษฎีสัญวิทยาในการแสดงนาฏยศิลป์ 4) การคำนึงถึงการสะท้อนภาพสังคมโดยใช้นาฏยศิลป์ 5) การคำนึงถึงการตีความอนาคตด้านความเชื่อเรื่องกุมารทองในสังคมไทย
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นผลงานสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเชื่อหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในการให้แนวคิดและปรัชญาในการเชื่อถือศรัทธาต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด และยังสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมความเชื่อที่มีการเปลี่ยนแปลงและสืบทอดอย่างมีนัยยะไปตามบริบทของสังคม