Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากสัญลักษณ์โอม ในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ โดยศึกษาจากแนวคิดจากสัญลักษณ์โอม ในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สัญศาสตร์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย เกณฑ์มาตรฐานศิลป์ ความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย รวมไปถึงได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงเอกสาร สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยจำนวน 33 คน สื่อสารสนเทศอื่น ๆ สำรวจข้อมูลภาคสนามที่เทวสถานทั้งในประเทศไทยและประเทศอินเดีย ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ สรุปผล และนำเสนอผลการวิจัย
ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการแสดงมีองค์ประกอบทั้งหมด 8 ประการ ได้แก่ 1) บทการแสดง โดยวิเคราะห์จากแนวคิดองค์ประกอบทัศนศิลป์ที่ปรากฏบนสัญลักษณ์โอม แบ่งออกเป็น 3 องก์ ประกอบไปด้วย องก์ 1 จุดเริ่มต้น (Starting Point) องก์ 2 เส้นโค้งแห่งการปกป้องดูแล (The Curve of Protection) และองก์ 3 จุดสิ้นสุด (End Point) ผู้วิจัยใช้การจัดวางภาพในการแสดงจากแนวคิดการปะติดภาพ (Collage) 2) นักแสดง คัดเลือกจากผู้มีความสามารถทางด้านนาฏยศิลป์อินเดียและนาฏยศิลป์ตะวันตก 3) การเคลื่อนไหวลีลา นำเสนอผ่านรูปแบบนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ โดยการนำแนวคิดของ อิสดอรา ดันแคน (Isadora Duncan) ในแนวคิดการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ (Free Spirit) พอล เทย์เลอร์ (Paul Taylor) แนวคิดการใช้ท่าทางในชีวิตประจำวัน (Everyday Movement) สตีฟ แพกซ์ตัน (Steve Paxton) แนวคิดการเคลื่อนไหวลีลาโดยใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายในแบบด้นสด (Body Contact Improvisation) อาครัมคาน (Akram Khan) แนวคิดการใช้ทักษะท่าทางนาฏยศิลป์อินเดียมาผสมผสานกับนาฏศิลป์แบบตะวันตก 4) เสียงเป็นการแสดงแบบดนตรีสดโดยใช้เครื่องดนตรีที่สามารถสื่อถึงอารมณ์และความรู้สึก ได้แก่ ขันทิเบต เชลโล่ กลองตับบลา กลองไทโกะ 5) อุปกรณ์การแสดง ใช้แนวคิดสัญลักษณ์ที่เน้นความเรียบง่าย สามารถสื่อสารความหมายอย่างชัดเจน 6) เครื่องแต่งกาย เป็นการลดทอนการแต่งกายของอินเดียโดยการนำแนวคิดมินิมอลลิสม์ (Minimalism) ที่ให้ความสำคัญกับความเรียบง่าย 7) พื้นที่ ได้นำแนวคิดศิลปะกับพื้นที่เฉพาะ (Site Specific) มาปรับเปลี่ยนพื้นที่การแสดง 8) แสง ใช้แนวคิดทฤษฎีของสีมาสื่อสารทางความหมายของเรื่องราวอารมณ์และความรู้สึก และมีแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ 6 ประการ คือ 1) แนวคิดสัญลักษณ์โอมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 2) แนวคิดความเรียบง่ายตามแนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 3) แนวคิดความคิดสร้างสรรค์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 4) แนวคิดการใช้สัญลักษณ์ในงานนาฏยศิลป์ 5) แนวคิดการใช้ทฤษฎีทางด้านนาฏยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และทัศนศิลป์ 6) แนวคิดการใช้พหุวัฒนธรรม ซึ่งผลการวิจัยนี้มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกประการ
การวิจัยในครั้งนี้เป็นการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผลงานทางด้านนาฏยศิลป์มาบูรณาการร่วมกับศาสตร์แขนงอื่น ๆ เพื่อนำมาเป็นสื่อทางความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์เกี่ยวกับสัญลักษณ์โอมในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานทางนาฏยศิลป์ต่อไป