Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากการตีความตัวละคร “ราม” ในรามายณะผ่านทฤษฎีภาวะและรส มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากการตีความตัวละคร “ราม” ในรามายณะผ่านทฤษฎีภาวะและรส ซึ่งมีรูปแบบการวิจัยเชิงสร้างสรรค์และการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการนำเอาตัวละคร “ราม” ในรามายณะมาตีความใหม่ในบริบทที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความเป็นมนุษย์ และจำแนกถึงอารมณ์ ความรู้สึก และการแสดงออกทางพฤติกรรมความเป็นมนุษย์ของตัวละครผ่านนวรส ได้แก่ รัก โกรธ เศร้า เกลียด กล้าหาญ กลัว อัศจรรย์ใจ ขบขัน และสงบ นำมาวิเคราะห์ร่วมกับแนวคิดอารมณ์ และพฤติกรรมมนุษย์รวมทั้งบูรณาการร่วมกับแนวคิดด้านศิลปกรรมศาสตร์ เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย ได้แก่ การวิเคราะห์จากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ศิลปิน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ตลอดจนนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาวิเคราะห์ สรุปผล และนำเสนอผลงานวิจัย ตามลำดับ
ผลการวิจัยพบว่า การสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์จากการตีความตัวละคร “ราม” ในรามายณะผ่านทฤษฎีภาวะและรสนั้น สามารถจำแนกตามองค์ประกอบทางด้านนาฏยศิลป์ ได้ 8 ประการ คือ 1) บทการแสดง แบ่งออกเป็น 9 ชุดการแสดงตามนวรส 2) นักแสดงมีทักษะความถนัดทางด้านนาฏยศิลป์และมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับตัวละครในบทประพันธ์ 3) ลีลาท่าทางนาฏยศิลป์นำเสนอผ่านรูปแบบนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 4) ดนตรีและเสียงใช้ใน 4 ลักษณะ คือ 1.ใช้เสียงสังเคราะห์จากเครื่องดนตรี 2.การด้นสดดนตรีไทย 3.การร้องประสานเสียง และ 4.ไม่ใช่เสียงดนตรี 5) เครื่องแต่งกาย ใช้การออกแบบตามแนวคิดพหุวัฒนธรรมและแนวคิดความเรียบง่าย (Minimalism) 6) อุปกรณ์การแสดง ใช้เสริมให้ภาพการแสดงดูสมบูรณ์และสื่อถึงนัยบางประการ 7) แสงใช้แนวคิดตามทฤษฎีสีทางทัศนศิลป์ในการแสดงถึงอารมณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ 8) พื้นที่การแสดง ทำการแสดงภายในโรงละครเพื่อใช้เทคนิคอุปกรณ์พิเศษให้ช่วยเสริมภาพของการแสดงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้แนวคิดที่ได้หลังการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ได้ให้ความสำคัญใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1) การตีความตัวละครผ่านทฤษฎีภาวะและรส 2) แนวคิดด้านอารมณ์และพฤติกรรมมนุษย์ 3) การสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์โดยใช้ทฤษฎีทางศิลปะ 4) การคำนึงถึงแนวคิดเรื่องพหุวัฒนธรรม และ 5) การคำนึงถึงแนวคิดหลังสมัยใหม่ ดังนั้นผลการวิจัยทั้งหมดนี้จึงมีความสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ทุกประการ