Abstract:
การศึกษาการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ที่ปลูกบนเกาะกลางถนนในเขตกรุงเทพมหานคร แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ตอนที่ 1 เป็นการสำรวจชนิด ปริมาณ และภาวะการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ที่ปลูกบนเกาะกลางถนน 12 สาย ในเขตกรุงเทพมหานคร พันธุ์ไม้ที่สำรวจพบในระหว่างเดือนตุลาคม 2520 มีทั้งหมด 43 ชนิด แต่ละชนิดมีปริมาณต่างกัน พันธุ์ไม้ที่พบในปริมาณน้อยมากจนสรุปภาวะการเจริญไม่ได้ มีอยู่ 9 ชนิด พันธุ์ไม้อีก 34 ชนิด จำแนกออกได้เป็น 4 กลุ่ม ตามภาวะการเจริญเติบโตคือ กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ 14 ชนิด มีการเจริญอยู่ในเกณฑ์ดีหรือค่อนข้างดี ซึ่งแสดงว่ามีแนวโน้มที่จะทนทานต่อสภาพแวดล้อมบนท้องถนนได้ กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ 3 ชนิด ซึ่งมีการเจริญอยู่ในระดับปานกลาง กลุ่มที่ 3 ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ 12 ชนิด ที่มีระดับการเจริญหลายระดับขึ้นกับถนนที่ปลูก พวกที่พบบนถนนที่มีการจราจรคับคั่ง จะมีการเจริญอยู่ในระดับที่ด้วยกว่าพวกที่ปลูกบนถนนสายอื่นๆ ที่มีการจราจรไม่คับคั่ง กลุ่มที่ 4 ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ 5 ชนิด ซึ่งมีการเจริญอยู่ในระดับไม่ดี ตอนที่ 2 เป็นการศึกษาถึงการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ซึ่งพบจากการสำรวจในตอนที่ 1 ว่ามีอยู่ในปริมาณมาก และมีแนวโน้มที่จะทนทานต่อสภาพท้องถนนได้ พันธุ์ไม้ที่เลือกมาศึกษาได้แก่แพงพวย Catharanthus roseus (Linn.) G. Don. เข็มแดง (Ixora coccinia Linn.) และทรงบาดาล (Cassia surattensis Burm.) ดัชนีที่ใช้วัดการเจริญเติบโตเปรียบเทียบระหว่างพันธุ์ไม้ที่ปลูกบนเกาะกลางถนนกับพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกันที่ปลูกในที่ห่างไกลจากถนนหลวงได้แก่ ขนาดของใบและดอก น้ำหนักแห้งของใบ ลำต้นและดอก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ทางสถิติชี้บ่งว่าพันธุ์ไม้ ตัวอย่างทั้ง 3 ชนิด ซึ่งปลูกบนเกาะกลางถนนเจริญด้อยกว่าพวกที่ปลูกในที่ห่างไกลจากถนนมาก และในกลุ่มพวกที่ปลูกบนเกาะกลางถนนนั้น พวกที่ปลูกบนถนนสายที่มีการจราจรคับคั่งมากกว่าหรือพวกที่ปลูกบนเกาะกลางถนนที่มีขนาดเกาะเล็กกว่าเจริญได้ด้อยกว่า ข้อมูลที่ได้จึงแสดงให้เห็นขัดเจนว่า ปัจจัยแวดล้อมบนท้องถนนซึ่งได้แก่ มลภาวะในอากาศรวมทั้งเสียงและการสั่นสะเทือน อุณหภูมิที่สูง และการจำกัดของอาณาเขตที่รากพืชจะเจริญได้มีส่วนในการลดการเจริญของพันธุ์ไม้ ตอนที่ 3 เป็นการศึกษาถึงภาวะการเจริญเติบโตของแพงพวยและเข็มแดงที่ปลูกบนดินที่มีสภาพแตกต่างกันบนเกาะกลางถนนพระรามที่ 4 ซึ่งมีการจราจรคับคั่งมาก เพื่อที่จะเปรียบเทียบดูว่าหากปรับสภาพดินให้ดีขึ้นจะช่วยให้พืชทั้ง 2 ประเภทที่มีการเจริญเติบโตดีขึ้นหรือไม่ สภาพดินที่ใช้ในการทดลองมี 3 ชนิดคือ ดินถนนล้วน ดินถนนผสมปุ๋ยอินทรีย์เทศบาลในสัดส่วน 1:1 และดินที่นำมาจากสวนธนบุรีรมย์ผสมปุ๋ยอินทรีย์เทศบาลในสัดส่วน 1:1 เมื่อวัดการเจริญเติบโตสองครั้งคือในเดือนเมษายน และเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2522 โดยใช้ดัชนีประเภทเดียวกับที่ใช้ในตอนที่ 2 พบว่าในช่วงที่อากาศแห้งแล้ง (มกราคม-เมษายน 2522) แพงพวยที่นำมาปลูกบนเกาะกลางถนนโดยใช้ดินที่โปร่ง อุ้มน้ำและมีอินทรีย์สารมาก (ดินธนบุรีรมย์ผสมปุ๋ยในสัดส่วน 1:1) มีการเจริญเติบโตดีที่สุด แต่หลังจากนั้นในสภาพที่อากาศชุ่มชื้นมีฝนตกชุก (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2522) การเจริญเติบโตของแพงพวยบนดินทั้ง 3 ประเภทไม่แตกต่างกัน และเจริญเติบโตดีกว่าในช่วงที่ อากาศแห้งแล้งอย่างเห็นได้ชัด สำหรับเข็มแดงในช่วงที่อากาศแห้งแล้งสภาพดินที่โปร่งและอุ้มน้ำไม่อาจช่วยให้เข็มแดงเจริญดีกว่าสภาพดินชนิดอื่นได้ในระยะแรก แต่เมื่อทิ้งระยะให้เข็มแดงใช้เวลาในการเจริญเติบโตนานขึ้น เข็มแดงจะแสดงความแตกต่างในการเจริญเติบโตได้ โดยพวกที่ปลูกบนดินถนนผสมปุ๋ยมีการเจริญเติบโตได้พอๆ กับพวกที่ปลูกบนดินธนบุรีรมย์ผสมปุ๋ยและเจริญดีกว่าพวกที่ปลูกบนดินถนนล้วน อย่างไรก็ดีการเจริญเติบโตของเข็มแดงที่วัดในช่วงที่อากาศชุ่มชื้นมิได้ดีกว่าการเจริญในช่วงอากาศแห้งแล้ง ดังเช่นกรณีของแพงพวย