Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระยะเวลาการนอนหลับของทารกเกิดก่อนกำหนดภายหลังจำหน่ายจากโรงพยาบาล โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยภายใน คือ เพศ อายุครรภ์ ประเภทของนม และปัจจัยภายนอก คือ ความเครียดของมารดา สัมพันธภาพระหว่างมารดา-ทารก รายได้ของครอบครัว และระดับการศึกษาของมารดา กับระยะเวลาการนอนหลับของทารกเกิดก่อนกำหนด กลุ่มตัวอย่าง คือ ทารกเกิดก่อนกำหนดอายุครรภ์ 28-36 สัปดาห์ที่รับไว้ในโรงพยาบาลครั้งแรกและมารดาจำนวน 130 คู่ จากวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของมารดาและทารก ตารางบันทึกระยะเวลาการนอนหลับ แบบสอบถามความเครียดของมารดา และแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างมารดา-ทารก ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา แบบสอบถามมีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.90 และ 0.89 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการทดสอบไคสแควร์ ที่ระดับความมีนัยสำคัญทางสถิติ .05 ผลการวิจัยสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. ระยะเวลาการนอนหลับของทารกเกิดก่อนกำหนดอยู่ในระดับไม่เหมาะสมกับวัย ( x = 880.51 นาที/วัน, SD = 123.59)
2. เพศ ประเภทของนม และระดับการศึกษาของมารดา มีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการนอนหลับของทารกเกิดก่อนกำหนด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ( 2 = 15.405, 12.438 และ 15.123 ตามลำดับ)
3. อายุครรภ์ และสัมพันธภาพระหว่างมารดา-ทารก มีความสัมพันธ์ทางบวกกับระยะเวลาการนอนหลับของทารกเกิดก่อนกำหนดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (r= .491 และ .265 ตามลำดับ)
4. ความเครียดของมารดา มีความสัมพันธ์ทางลบกับระยะเวลาการนอนหลับของทารกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (r= -.364)
ข้อความรู้จากผลการวิจัยให้ประโยชน์ต่อการปฏิบัติการพยาบาล ในการเตรียมมารดาก่อนการจำหน่ายทารกเกิดก่อนกำหนด พยาบาลสามารถส่งเสริมระยะเวลาการนอนหลับที่เพียงพอของทารกเกิดก่อนกำหนดที่บ้าน โดยการเสริมสร้างสัมพันธภาพระหว่างมารดา-ทารก และให้มารดาเรียนรู้วิธีจัดการความเครียดที่บ้านโดยเฉพาะขณะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่