Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) การดื่มสุราในผู้ป่วยโรค ซึมเศร้า และ 2) ปัจจัยคัดสรรที่มีความสัมพันธ์กับการดื่มสุราในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สถานภาพสมรส อายุที่เริ่มดื่มสุรา ประวัติการดื่มสุราในครอบครัว การใช้สารเสพติดร่วม ความรุนแรงของโรคซึมเศร้า ความเชื่อเกี่ยวกับการดื่มสุรา การเผชิญความเครียดด้านการมุ่งแก้สาเหตุของปัญหา และการเผชิญความเครียดด้านการจัดการกับอารมณ์ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีการดื่มสุรา ซึ่งเข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จำนวน 180 คน ได้รับการคัดเลือกตามเกณฑ์คุณสมบัติที่กำหนดไว้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 5 ชุด คือ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินความรุนแรงของโรคซึมเศร้า 3) แบบประเมินความเชื่อเกี่ยวกับการดื่มสุรา 4) แบบวัดการเผชิญความเครียด และ 5) แบบประเมินการดื่มสุรา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ การแจกแจงค่าพิสัย ความถี่ ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าเฉลี่ยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบพอยท์ไบซีเรียล และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่มีการดื่มสุราโดยรวมอยู่ในระดับติด (ร้อยละ 87)
2. สถานภาพสมรส อายุที่เริ่มดื่มสุรา การใช้สารเสพติดอื่นร่วม ความรุนแรงของโรคซึมเศร้า ความเชื่อเกี่ยวกับการดื่มสุรา การเผชิญความเครียดด้านการมุ่งแก้สาเหตุของปัญหา และมีความสัมพันธ์กับการดื่มสุรา ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = -.378, -.449, .561, .492, -.452, และ -.376)
3. ประวัติการดื่มสุราในครอบครัว และการเผชิญความเครียดด้านการจัดการกับอารมณ์ไม่มีความสัมพันธ์กับการดื่มสุราในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า