Abstract:
การศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายประสบการณ์การเป็นพยาบาลผู้ประกอบการคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ของพยาบาลวิชาชีพ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยาของ Heidegger โดยผู้ให้ข้อมูลเป็นพยาบาลวิชาชีพที่เป็นผู้ประกอบการคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จำนวน 10 คน โดยการคัดเลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเจาะจง ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกต และเอกสารต่างๆข้อมูลทั้งหมดนำมาวิเคราะห์เนื้อหาตามวิธีการของ van Manen
ผลการศึกษาประสบการณ์การเป็นพยาบาลผู้ประกอบการคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สามารถแบ่งเป็น 5 ประเด็นหลักและประเด็นย่อยดังนี้
1. เหตุผลที่เลือกเป็นผู้ประกอบการคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ประกอบด้วย 5 ประเด็นย่อย ได้แก่ 1.1) ต้องการรายได้เสริมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว 1.2) เติมเต็มช่องว่างการให้บริการสุขภาพแก่ชุมชน1.3) อยากมีเวลาดูแลครอบครัว 1.4) มีอิสระในการทำงาน และ 1.5) เป็นงานที่รองรับให้มีรายได้หลังเกษียณจากงานราชการ
2. เตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ประกอบด้วย 7 ประเด็นย่อย ได้แก่ 2.1) สอบถามข้อมูลการเปิดสถานพยาบาลจากแหล่งข้อมูล 2.2) เงินทุนเตรียมให้พร้อม 2.3) หาทำเลที่ตั้งสถานพยาบาลในแหล่งชุมชน 2.4) เตรียมอุปกรณ์ ยา และเวชภัณฑ์ ในสถานพยาบาล 2.5) เอกสารหลักฐานสำคัญ ต้องเตรียมให้พร้อม 2.6) เตรียมพร้อมรับการตรวจประเมินสถานพยาบาล และ 2.7) ประชาสัมพันธ์สถานพยาบาล
3. ให้บริการตามขอบเขตวิชาชีพ ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อย ได้แก่ 3.1) รักษาโรคเบื้องต้น 3.2) วางแผนครอบครัว 3.3) การตรวจและรับฝากครรภ์ และ 3.4) การให้ภูมิคุ้มกันโรค
4. สิ่งที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอด ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อย ได้แก่ 4.1) บริการดี เข้าถึงและเข้าใจความต้องการของผู้ป่วย 4.2) เรียนรู้จากข้อผิดพลาดเป็นโอกาสให้ปรับการบริการ 4.3) เปิดให้บริการตรงเวลา หากติดภารกิจอื่นติดป้ายแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร และ 4.4) พัฒนาองค์ความรู้ให้ทันสมัย
5. สิ่งที่ได้รับจากการเป็นผู้ประกอบการคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย ได้แก่ 5.1) ได้บุญ ได้ช่วยเหลือผู้อื่น และ 5.2) มีรายได้นำมาใช้จ่ายดูแลครอบครัว
ผลการศึกษาวิจัยนี้สามารถใช้เป็นแนวทางการเปิดคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์สำหรับพยาบาลวิชาชีพที่สนใจเป็นพยาบาลผู้ประกอบการสถานพยาบาลแบบไม่พักค้างคืนรายใหม่