Abstract:
การวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายประสบการณ์การดูแลตนเองในการป้องกันการหกล้มซ้ำของผู้สูงอายุ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบปรากฏการณ์วิทยาการตีความของ Martin Heidegger (1962) ผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้สูงอายุที่มีการหกล้มและไม่เกิดการหกล้มซ้ำภายใน 1 ปี นับจากวันที่หกล้มถึงวันที่พบกับผู้วิจัย คัดเลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจง เก็บรวบรวมข้อมูล โดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและบันทึกเทป ข้อมูลอิ่มตัวจากผู้ให้ข้อมูล จำนวน 12 ราย นำข้อมูลที่ได้มาถอดความแบบคำต่อคำ วิเคราะห์ข้อมูลตามวิธีการของ Benner (1985)
ผลการวิจัย พบว่า ประสบการณ์การดูแลตนเองในการป้องกันการหกล้มซ้ำของผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก คือ 1) เหตุที่หกล้มเป็นเพราะประมาทหรือถึงคราวเคราะห์ คือประมาทที่ไม่ทันระวังตัวเองจึงหกล้ม แต่หากระวังตัวดีแล้วก็ถือว่าเป็นคราวเคราะห์ 2) หลากหลายความรู้สึก ทำให้เข็ดไม่อยากล้มซ้ำ คือ รู้สึกตกใจ สับสนมึนงง ชา เจ็บปวด กังวลและกลัวว่าจะทำอะไรเองไม่ได้อีก 3) ล้มแล้วเร่งจัดการ ประเมินอาการและดูแลรักษา เริ่มจากประเมินการบาดเจ็บและดูแลรักษาตัวเองก่อนตัดสินใจรักษา 4) ป้องกันไม่ให้หกล้มซ้ำ ต้องมีสติกำกับทุกย่างก้าว ต้องระวังพร้อมปรับตัว คือ ต้องใช้สติมากำกับการกระทำ โดยเฉพาะการเดินให้เอาใจไปอยู่ที่เท้า ต้องระมัดระวังตัวเองในทุกอิริยาบถและต้องปรับตัวด้วยการลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการหกล้ม และ 5) ครอบครัวมีส่วนร่วมช่วยป้องกันล้ม ด้วยการแสดงออกถึงความห่วงใยใส่ใจ ติดตามดูแลและปรับสภาพแวดล้อมที่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม
จากผลการวิจัยนี้ นำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานให้บุคลากรทางสุขภาพส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงอายุและครอบครัวมีความตระหนักรู้และเข้าใจถึงวิธีดูแลตนเองในการป้องกันการหกล้มซ้ำ เพื่อนำไปสู่พฤติกรรมการดูแลตนเองที่ยั่งยืนและไม่เกิดการหกล้มซ้ำ