Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับกลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือนในผู้ป่วยบาดเจ็บสมองระดับเล็กน้อย ได้แก่ เพศ ระดับการศึกษา อายุ ความปวด การรับรู้ความเจ็บป่วย ความวิตกกังวล และแรงสนับสนุนทางสังคม กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยบาดเจ็บสมองระดับเล็กน้อยอายุ 18–59 ปีที่เกิดกลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบ กระเทือน ทั้งเพศชายและเพศหญิง ที่มาติดตามการรักษา ณ หน่วยตรวจโรคประสาทศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และโรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 143 ราย ที่ได้มาจากการคัดเลือกตามคุณสมบัติที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามประวัติการบาดเจ็บสมอง แบบประเมินกลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือน แบบวัดความปวดชนิดที่เป็นตัวเลข แบบวัดการรับรู้ความเจ็บป่วย แบบวัดความวิตกกังวลขณะเผชิญ และแบบสอบถามแรงสนับสนุนทางสังคม ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน หาค่าความเที่ยงของแบบประเมินกลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือน แบบวัดการรับรู้ความเจ็บป่วย แบบวัดความวิตกกังวลขณะเผชิญ และแบบสอบถามแรงสนับสนุนทางสังคม เท่ากับ .85, .92, .92 และ .91 ตามลำดับ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบที สถิติสหสัมพันธ์พอยท์ไบซีเรียล สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของ สเปียร์แมน และสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ คือ
1. กลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือนในผู้ป่วยบาดเจ็บสมองพบมากที่สุด คือ 9-12 อาการ ร้อยละ 36.4
2. เพศมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (rpb=.45) เพศชายและเพศหญิงมีกลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือนแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. อายุ ความปวด การรับรู้ความเจ็บป่วย ความวิตกกังวล มีความสัมพันธ์ทางบวกกับกลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r=.39, r=.39,r=.76, r=.73 ตามลำดับ)
4. ระดับการศึกษา แรงสนับสนุนทางสังคม มีความสัมพันธ์ทางลบกับกลุ่มอาการภายหลังสมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (rs=-.21, r=-.29 ตามลำดับ)