Abstract:
การวิจัยเชิงบรรยายนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอาการนอนไม่หลับแบบเรื้อรังและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับอาการนอนไม่หลับแบบเรื้อรังของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ อายุ ความวิตกกังวล อาการเหนื่อยล้า ตำแหน่งของโรคหลอดเลือดสมอง ความปวด ความเชื่อและทัศนคติที่ผิดเกี่ยวกับการนอน กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีระยะเวลาการเจ็บป่วยและนอนไม่หลับตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ที่เข้ารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอกอายุรกรรมประสาทและศัลยกรรมประสาท โรงพยาบาลตำรวจและสถาบันประสาทวิทยา จำนวน 132 คน ที่ได้มาจากการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและการเจ็บป่วย แบบประเมินความวิตกกังวล แบบประเมินความปวด แบบประเมินความเหนื่อยล้า แบบประเมินความเชื่อและทัศนคติที่ผิดเกี่ยวกับการนอนหลับ แบบสอบถามอาการนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง ซึ่งได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คนและตรวจสอบความเที่ยงได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .88, 1.00, 0.82, 0.97, 0.86 ตามลำดับ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติอีต้าและสถิติสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. อาการนอนไม่หลับแบบเรื้อรังของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางโดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 17.95 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 4.00
2. ความวิตกกังวล อาการเหนื่อยล้า ความปวด ความเชื่อและทัศนคติที่ผิดเกี่ยวกับการนอนหลับมีความสัมพันธ์ทางบวกกับอาการนอนไม่หลับแบบเรื้อรังของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r=.467, .636, .503, .026) ตามลำดับ
3. อายุและตำแหน่งของโรคหลอดเลือดสมองไม่มีความสัมพันธ์กับอาการนอนไม่หลับแบบเรื้อรังของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง