Abstract:
การวิจัยแบบบรรยายเชิงความสัมพันธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการทำหน้าที่ทางเพศของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหลังได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจ (PCI) และปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับการทำหน้าที่ทางเพศของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหลังการทำ PCI ได้แก่ เพศ ความรุนแรงของโรค ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ ความวิตกกังวลทางเพศ การรับรู้สมรรถนะแห่งตนทางเพศ ภาวะซึมเศร้าทางเพศ และการสนับสนุนทางสังคม กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ได้รับการรักษาด้วยการทำ PCI เพศชายและหญิงอายุ 18 - 59 ปี ที่เข้ามารับบริการ ณ แผนกผู้ป่วยนอกอายุรกรรมทั่วไป และคลินิกโรคหัวใจ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 124 คน ใช้วิธีเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป 2) แบบวัดการทำหน้าที่ทางเพศ 3) แบบประเมินความรุนแรงของโรค 4) แบบวัดความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ 5)แบบสอบถามความวิตกกังวลทางเพศ 6) แบบสอบถามการรับรู้สมรรถนะแห่งตนทางเพศ 7) แบบสอบถามภาวะซึมเศร้าทางเพศ 8) แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ได้ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหา ในชุดที่ 2 - 8 เท่ากับ .93, 1.00, .98, .97, .91, 1.00, .98 ตามลำดับ และค่าความเที่ยงชุดที่ 2, 4 - 8 เท่ากับ .82, .77, .91, .91, .85, และ .81 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย สถิติสหสัมพันธ์เพียร์สัน และสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พอยท์ไบซีเรียล ผลการวิจัย พบว่า
1. การทำหน้าที่ทางเพศอยู่ในระดับปานกลาง ( x = 45.61, SD = 4.38)
2. เพศชาย และความรุนแรงของโรคมาก มีความสัมพันธ์กับการทำหน้าที่ทางเพศในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหลังการทำ PCI อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (rpb = .109 และ -.133)
3. ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ การรับรู้สมรรถนะแห่งตนทางเพศ และการสนับสนุนทางสังคม มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการทำหน้าที่ทางเพศในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหลังการทำ PCI อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = .125, .212, และ .633 ตามลำดับ)
4. ความวิตกกังวลทางเพศและภาวะซึมเศร้าทางเพศมีความสัมพันธ์ทางลบกับการทำหน้าที่ทางเพศในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหลังการทำ PCI อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r= -.495, และ -.407)