Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ เปรียบเทียบอาการออทิสติกของเด็กออทิสติกวัยก่อนเรียนก่อนและหลังได้รับโปรแกรมเสริมสร้างความสามารถในการดูแลของครอบครัว และเปรียบเทียบอาการออทิสติกของเด็กออทิสติกวัยก่อนเรียนที่ได้รับโปรแกรมเสริมสร้างความสามารถในการดูแลของครอบครัวกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มตัวอย่างคือ เด็กที่ออทิสติกอายุ 3-6 ปี จำนวน 40 คน และครอบครัวที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ โดยได้รับการจับคู่เพศ และการได้รับยาชนิดเดียวกัน จากนั้นจึงสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม จำนวนเท่ากัน กลุ่มทดลองได้รับการเข้าร่วมโปรแกรมเสริมสร้างความสามารถในการดูแลของครอบครัว เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินอาการรุนแรงของโรคออทิซึม แบบประเมินพลังอำนาจ โปรแกรมเสริมสร้างความสามารถในการดูแลของครอบครัว สำหรับพยาบาล และ คู่มือการดูแลเด็กออทิสติก สำหรับครอบครัว เครื่องมือทุกฉบับได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาคของแบบประเมินอาการรุนแรงของโรคออทิซึม เท่ากับ .96 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัยสรุปดังนี้
1. อาการออทิสติกของเด็กออทิสติกวัยก่อนเรียน หลังได้รับโปรแกรมเสริมสร้างความสามารถในการดูแลของครอบครัว น้อยกว่า ก่อนได้รับโปรแกรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2. อาการออทิสติกหลังการทดลอง ของเด็กออทิสติกวัยก่อนเรียนที่ได้รับโปรแกรมเสริมสร้างความสามารถในการดูแลของครอบครัว ลดลงมากกว่า กลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
ผลการวิจัยครั้งนี้สนับสนุนว่า การใช้โปรแกรมเสริมสร้างความสามารถในการดูแลของครอบครัวช่วยให้อาการออทิสติกของเด็กออทิสติกวัยก่อนเรียนลดลงได้