Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อบรรยายประสบการณ์การปฏิบัติงานของพยาบาลรุ่นอายุแซด โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยาการตีความ ตามแนวคิดของ Heidegger ผู้ให้ข้อมูล คือ พยาบาลวิชาชีพที่มีอายุไม่เกิน 27 ปี และมีประสบการณ์การปฏิบัติงานพยาบาลเต็มเวลา อย่างน้อย 3 ปี จำนวน 12 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก การบันทึกเทป การสังเกต และการบันทึกภาคสนาม นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เนื้อหาตามวิธีการของ van Manen (1990)
ผลการศึกษาประสบการณ์การปฏิบัติงานของพยาบาลรุ่นอายุแซด โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง สามารถแบ่งเป็นประเด็นหลัก และประเด็นย่อย ดังต่อไปนี้
1. เริ่มทำงานใหม่ๆ เผชิญกับความเครียดหลายอย่างในที่ทำงาน ประกอบด้วย 3 ประเด็นย่อย ได้แก่ 1.1) เครียดกับสถานที่และอุปกรณ์การแพทย์ที่มีมากมาย 1.2) เครียดกับระบบการทำงาน และ 1.3) เครียดกับการปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงาน
2. เรียนรู้งานของพยาบาลจบใหม่รุ่นอายุแซด ประกอบด้วย 5 ประเด็นย่อย ได้แก่ 2.1) เรียนรู้จากพยาบาลพี่เลี้ยงและพยาบาลรุ่นพี่ที่ทันสมัย และเปิดใจกว้างยอมรับ 2.2) ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ 2.3) สอบถามจากผู้รู้ที่เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง 2.4) หาเทคนิคช่วยจำ โดยนำ ไอทีมาใช้ และ 2.5) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในไลน์กลุ่ม
3. บริหารจัดการงาน ต้องเรียนรู้พื้นฐานของผู้ร่วมงานแต่ละวัย ประกอบด้วย 5 ประเด็นย่อย ได้แก่3.1) ทำงานกับแพทย์ต้องเข้าใจว่าแพทย์แต่ละวัยเข้าถึงได้ต่างกัน 3.2) ทำงานกับหัวหน้าต้องปรับตัวเข้าหา เพื่อปรึกษาปัญหาการงาน 3.3) เรียนรู้และปรับตัวเข้าหาพยาบาลระดับปฏิบัติการหลากหลายรุ่น 3.4) ผู้ช่วยพยาบาลต่างวัย ต้องจัดการให้ทำงานตามที่มอบหมาย และ 3.5) แม่บ้านหอผู้ป่วยชอบโวยวาย ต้องใช้เทคนิคการเจรจา
4. พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อย ได้แก่ 4.1) เรียนรู้จากความผิดพลาด 4.2) อ่านหนังสือตำราและวารสาร 4.3) เข้ารับการอบรมในการประชุมวิชาการ และ 4.4) มีส่วนร่วมในการทำนวัตกรรม
5. ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงาน ประกอบด้วย 3 ประเด็นย่อย ได้แก่ 5.1) มีเงินเดือน/ค่าตอบแทนเลี้ยงชีพ 5.2) เห็นคุณค่าในตนเอง และ 5.3) มีความสุขในการทำงาน
ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า พยาบาลรุ่นอายุแซดจะมีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา และปรับตัวเข้าได้ดีกับผู้ร่วมงานที่มีลักษณะเปิดกว้างทางความคิดและ ยืดหยุ่นวิธีการทำงาน ดังนั้น ผู้บริหารสามารถนำผลการวิจัยนี้ไปประยุกต์ใช้ในการบริหารพยาบาลรุ่นอายุแซดต่อไป