Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายประสบการณ์การเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ให้การดูแลผู้ป่วยอาหรับ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฎการณ์วิทยาการตีความตาม ผู้ให้ข้อมูลคือ พยาบาลวิชาชีพที่มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยอาหรับตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป จำนวน 12 รายที่ยินดีเข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและการบันทึกเทป ร่วมกับการบันทึกภาคสนาม นำข้อมูลที่ได้มาถอดความแบบคำต่อคำ และวิเคราะห์เนื้อหาตามวิธีการของ van Manen ผลการศึกษาแบ่งออกเป็น 7 ประเด็นหลักดังนี้
1.เหตุผลการเลือกทำงานที่หอผู้ป่วยอาหรับ ประกอบด้วย 3 ประเด็นย่อย ได้แก่ 1.1) รุ่นพี่แนะนำทำให้เกิดสนใจ 1.2) เป็นความท้าทายที่จะได้พัฒนาภาษา และ 1.3) สนใจดูแลผู้ป่วยอาหรับ เพราะเป็นมุสลิมเหมือนกัน
2. เริ่มทำงานใหม่ๆ ยังต้องปรับตัวปรับใจ ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย ได้แก่ 2.1) ตื่นเต้นตกใจยังไม่เคยดูแลผู้ป่วยอาหรับมาก่อน และ 2.2) กังวลกับการใช้ภาษาในการสื่อสารกับผู้ป่วย
3. พัฒนาตนเองให้มีความพร้อมในการสื่อสารภาษาอาหรับ ประกอบด้วย 2 ประเด็น ได้แก่ 3.1) เข้าอบรมภาษาอาหรับเบื้องต้นที่โรงพยาบาลจัดให้ และ 3.2) เรียนรู้ ฝึกฝนการใช้ภาษาด้วยตนเอง
4. ศึกษาวัฒนธรรมทำให้เข้าถึงผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ ประกอบด้วย 5 ประเด็น ได้แก่ 4.1) ชาวอาหรับอารมณ์ร้อน พูดเสียงดัง 4.2) ผู้ชายมีอำนาจตัดสินใจยินยอมการรักษา 4.3) มีน้ำใจแบ่งปันอาหารให้พยาบาล 4.4) คาดหวังผลการรักษา แต่ไม่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตาม และ 4.5) นำความเชื่อด้านสุขภาพของตนมาใช้ร่วมกับการรักษาของโรงพยาบาล
5. ลักษณะเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยอาหรับ ประกอบด้วย 5 ประเด็น ได้แก่ 5.1) ตรวจสอบหลักฐานสิทธิในการรักษาเพื่อเบิกจ่ายกับสถานทูต 5.2) งดกิจกรรมหลายอย่าง หากผู้ป่วยถือศีลอด 5.3) อธิบายแผนการรักษาต้องเน้นย้ำ พูดซ้ำๆ หลายครั้ง 5.4) เตรียมความพร้อมผู้ป่วยหญิงก่อนแพทย์เข้าเยี่ยม และ 5.5) การพยาบาลต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
6. ความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ หากไม่ป้องกันหรือจัดการแก้ไข ประกอบด้วย 3 ประเด็น ได้แก่ 6.1) ตักเตือนผู้ป่วยชาย หากเข้าใกล้ถึงเนื้อถึงตัว 6.2) อธิบายให้เข้าใจ เหตุผลในการปฏิบัติตามกฎโรงพยาบาล และ 6.3) ปฏิเสธการรักษา ต้องเจรจากันหลายฝ่าย
7. กลยุทธ์การดูแลผู้ป่วยอาหรับให้เกิดความประทับใจ ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อย ได้แก่ 7.1) ดูแลผู้ป่วยอย่างมั่นใจ สื่อสารได้ ไหวพริบดี 7.2) ให้ความเอาใจใส่ ถามไถ่ความต้องการ 7.3) เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆและยอมรับในความแตกต่าง และ 7.4) ดูแลผู้ป่วยเหมือนคนในครอบครัว